RedCyberClub Forum
Would you like to react to this message? Create an account in a few clicks or log in to continue.

**เปิดข้อมูลใหม่ "วรเจตน์ ภาคีรัตน์ " ความหวังสุดท้าย"ทักษิณ" หวังพลิกคดียึดทรัพย์..

Go down

**เปิดข้อมูลใหม่ "วรเจตน์ ภาคีรัตน์ " ความหวังสุดท้าย"ทักษิณ" หวังพลิกคดียึดทรัพย์.. Empty **เปิดข้อมูลใหม่ "วรเจตน์ ภาคีรัตน์ " ความหวังสุดท้าย"ทักษิณ" หวังพลิกคดียึดทรัพย์..

ตั้งหัวข้อ by RED LETTER Wed Mar 31, 2010 4:32 am

**เปิดข้อมูลใหม่ "วรเจตน์ ภาคีรัตน์ " ความหวังสุดท้าย"ทักษิณ" หวังพลิกคดียึดทรัพย์.. 126899984
ทนายความของทักษิณเผยว่า ใช้ความเห็นของ ดร.วรเจตน์ เป็นหนึ่งในข้อมูลใหม่ และมั่นใจว่าจะพลิกคดีได้ "ประชาชาชาติธุรกิจ"สัมภาษณ์อาจารย์คนดัง เรื่องข้อมูลใหม่

26 ก.พ. ศาลฎีกาฯ อ่านคำพิพากษา คดียึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้าน ใช้เวลาอ่านคำพิพากษา 187 หน้า 7 ชั่วโมง
หลัง คำพิพากษา แพร่ออกไป คนส่วนใหญ่ เชื่อว่า ทักษิณ สงสัยจะทุจริตเชิงนโยบายจริงๆ
แต่ อาจารย์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และพวก รวม 5 คนจาก สำนักท่าพระจันทร์ ไม่เชื่อเช่นนั้น
พวกเขา ออกบทวิเคราะห์ 32 หน้ากระดาษ ซึ่งคาดว่า ทีมทนายทักษิณ น่าจะลอกเอาไปใส่ในอุทธรณ์
" ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์ อาจารย์ วรเจตน์ ในเรื่อง ข้อมูลใหม่ ในคดียึดทรัพย์ อยากรู้รีบอ่านโดยพลัน
@ ผมเห็นไม่ตรงกับ อาจารย์สมเกียรติ
ในส่วนเนื้อหาที่ว่าเป็นการกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่หรือไม่นั้น ช่วงที่ผ่านมาเป็นการพูดมุมเดียว ไม่มีการถามคนที่ประกอบกิจการในตลาดที่มีความรู้เรื่องนี้ว่ามุมมองเรื่องนี้เป็นอย่างไรและวิเคราะห์รอบด้านหรือไม่ ผมเห็นไม่ตรงกับ อาจารย์สมเกียรติ (ตั้งกิจวานิชย์ )ในส่วนเรื่องการกีดกันและเอื้อประโยชน์ในส่วนโทรคมนาคม
เพราะดูจากตัวสัญญาระหว่างบริษัทมือถือต่างๆ ที่ทำกับรัฐวิสาหกิจของรัฐและในส่วนกฎหมายที่ออกมา วัตถุประสงค์ของภาษีสรรพสามิต ยังไม่พบว่าเป็นการกีดกันรายใหม่แต่อย่างใด เรื่องต้นทุนการประกอบกิจการก็ไม่น่าจะมีผลเป็นการกีดกัน เพราะเมื่อเปรียบเทียบรายใหม่กับรายเก่าแล้ว ต้นทุนในส่วนที่จะต้องชำระส่วนแบ่งรายได้ให้กับรัฐเมื่อเปรียบเทียบกับรายใหม่ที่จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมบวกกับภาษีสรรพสามิตด้วย ของรายเก่าก็สูงกว่าอยู่ดี
@ ต้องเข้าใจ โครงสร้างกิจการโทรคมนาคมแบบไทยๆ
อันที่จริงประเด็นเกี่ยวกับภาษีสรรพสามิตในกิจการโทรคมนาคมมีสองเรื่องใหญ่ๆ คือ คือ 1 การออกพระราชกำหนดภาษีสรรพสามิตในสมัยรัฐบาลคุณทักษิณทำให้รัฐเสียประโยชน์หรือไม่ 2 กีดกันผู้ประกอบการรายใหม่หรือไม่ เราจะเข้าใจประเด็นเหล่านี้ไม่ได้ถ้าไม่มองภาพรวมธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศไทย

ปัญหาในบ้านเรามันพิสดารไม่เหมือนที่ไหนในโลก เรื่องการให้สัมปทานนั้นเกิดขึ้นก่อนที่คุณทักษิณ (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) เข้ามาเป็นนายกฯ ซึ่งปกติเวลาจะให้สัมปทาน รัฐควรจะเป็นหน่วยเดียวที่เป็นเอกภาพ แล้วให้สัมปทานเอกชนหรือให้เอกชนเข้าร่วมการงาน
แต่ของไทยเรามีรัฐวิสาหกิจ 2 แห่งที่แยกกัน คือ 1) องค์การโทรศัพท์ ให้สัมปทานโทรศัพท์มือถือแก่ เอไอเอส ซึ่งเป็นรายแรกที่เข้าสู่ตลาด ในขณะที่ 2) การสื่อสารแห่งประเทศไทยให้สัมปทานโทรศัพท์มือถือกับดีแทคและ ทรูมูฟ
เมื่อเอไอเอสเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับองค์การโทรศัพท์ ก็ต้องจ่ายค่าสัมปทานให้องค์การโทรศัพท์ซึ่งมีโครงข่ายเป็นของตนเองและเป็นโครงข่ายหลักในประเทศ ขณะที่ดีแทคและทรูมูฟซึ่งทำสัญญากับการสื่อสารฯและต้องจ่ายค่าสัมปทานให้กับการสื่อสารนั้น จะต้องเชื่อมต่อโครงข่ายขององค์การโทรศัพท์ และด้วยเหตุนี้ทั้งสองบริษัทจึงมีต้นทุนการประกอบการอีกส่วนหนึ่งซึ่งเอไอเอสไม่มี คือ ค่าเชื่อมต่อโครงข่าย ผลจากการนี้จึงทำให้ต้นทุนการประกอบการของบริษัทเหล่านี้ไม่เท่ากันตั้งแต่แรก
พูดง่ายๆทำให้ ดีแทคกับทรูมูฟ มีต้นทุนสูงกว่า เพราะนอกจากจะจ่ายค่าสัมปทานให้การสื่อสารฯแล้วยังต้องจ่ายค่าเชื่อมต่อโครงข่าย ให้กับองค์การโทรศัพท์อีกด้วย อันนี้คือประเด็นที่เป็นผลจากภาครัฐเองในแง่การให้สัมปทาน
ในเวลาต่อมามีการแปรรูปองค์การโทรศัพท์เป็นบริษัท ทีโอที มีการแปรรูปการสื่อสารเป็นบริษัท กสท. โทรคมนาคม ซึ่งมีการเปลี่ยนทุนเป็นหุ้น และกระทรวงการคลังถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ว่าในอนาคตหากมีการนำบริษัทสองบริษัทนี้เข้าตลาดหลักทรัพย์ ก็จะต้องขายหุ้นให้ผู้อื่นเข้ามาถือ
ประเด็นคือ ตอนแปรรูปทั้ง 2 หน่วยงานให้เป็นบริษัท ทั้ง 2 หน่วยงานยังได้สืบสิทธิตามสัญญาสัมปทานเดิมต่อไป นั่นคือทั้งทีโอทีและ กสท.โทรคมนาคมยังได้ส่วนแบ่งรายได้จากการประกอบการของเอไอเอส ดีแทคและทรูมูฟไปตลอดอายุสัมปทาน ทั้งสองบริษัทสามารถที่จะนำเงินส่วนแบ่งไปใช้จ่ายได้ก่อน เหลือแล้วจึงส่งกระทรวงการคลัง
รัฐบาลในขณะนั้นได้แก้ปัญหาดังกล่าวนี้โดยการออกพระราชกำหนดภาษีสรรพสามิต โดยผลของการออกพระราชกำหนดดังกล่าว ประกอบกับประกาศกระทรวงการคลังและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้บริษัทเอกชนคู่สัญญาคือเอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ ต้องส่งมอบส่วนแบ่งรายได้ 10 เปอร์เซนต์เข้ากระทรวงการคลังโดยตรง ส่วนอีก 15 เปอร์เซ็นต์ จ่ายให้คู่สัญญาของตน คือ ทีโอที ดีแทค และทรูมูฟ เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่าเอไอเอส ไม่ได้จ่ายน้อยลง เพราะยังจ่าย 25 เปอร์เซ็นต์เหมือนเดิม
@ ผมไม่เห็นว่ารัฐเสียประโยชน์ หรือ เอื้อ เอไอเอส.
ประเด็นที่ว่ารัฐเสียประโยชน์หรือไม่นั้น ผมไม่เห็นว่าเสียประโยชน์เพราะเป็นเพียงการแก้ปัญหาสัมปทาน ในระหว่างที่ยังไม่มีการแปรรูป ส่วนเอื้อประโยชน์แก่เอไอเอส เพราะมีผลเป็นการกีดกันรายใหม่หรือไม่นั้น ถ้าสมมติว่าภาษีสรรพสามิต 10 เปอร์เซ็นต์นี้ยังอยู่ ถามว่า จะเป็นการกีดกันรายใหม่เข้าสู่ตลาดหรือไม่ ซึ่งเราต้องเข้าใจว่ารายใหม่ที่เข้าสู่ตลาด จะไม่สามารถเข้าทำสัญญากับหน่วยงานรัฐได้อีกแล้ว เพราะไม่มีองค์การโทรศัพท์และการสื่อสารฯ แล้ว แต่หน่วยงานทั้งสองได้กลายเป็นทีโอทีกับ กสท. โทรคมนาคมซึ่งไม่มีอำนาจให้สัมปทานอีกแล้ว แต่จะเข้าสู่ตลาดโดยการได้รับใบอนุญาตซึ่งแม้ว่าจะมีภาษีสรรพสามิต 10 เปอร์เซ็นต์ ต้นทุนของผู้ประกอบการรายใหม่ก็ยังต่ำกว่าผู้ประกอบการรายเดิมอยู่ดี
อำนาจในการอนุญาตให้การประกอบกิจการจะอยู่ที่องค์กรอิสระในทางปกครองที่ตั้งขึ้นใหม่ คือ กทช. เมื่อรายใหม่เข้าสู่ตลาด ต้องขออนุญาตที่ กทช. ไม่ใช่ทำสัญญาสัมปทาน ซึ่งรายใหม่ จะมี ต้นทุนที่ให้กับรัฐซึ่งต่ำกว่าผู้ประกอบการรายเดิม อย่างไรก็ตามโดยที่รายใหม่ยังไม่มีฐานลูกค้า
ฉะนั้น ยังไม่แน่ใจจะเกิดรายใหม่ได้สักเท่าไหร่ถ้าเทียบกับสัมปทานอันเดิม
แต่ประเด็น อยู่ที่ว่า เราต้องทำให้สภาพ สามารถแข่งขันกันได้ แต่ถามว่าเป็นการกีดกัน หรือไม่นั้น ผมคิดว่าไม่ อย่างน้อยดูจากต้นทุนก็ไม่ใช่การกีดกัน แต่โอกาสแย่งลูกค้าต้องไปพิสูจน์กันในทางตัวเลข
@อย่ามองข้าม ... มุมมองของผู้บริโภค
ส่วนสาเหตุที่ยังไม่มีรายใหม่เข้าสู่ตลาดที่ผ่านมา เป็นปัญหาจากกฎหมายโทรคมนาคม ซึ่งไม่เกี่ยวกับภาษีสรรพสามิต คือคนที่มีอำนาจออกใบอนุญาตคือ กทช. ซึ่งผมเห็นว่า กทช.มีอำนาจทำได้ แต่ยัง มีปัญหาที่นักกฎหมายจำนวนหนึ่งเถียงกันอยู่ว่า กทช. ไม่มีอำนาจ เพราะยังไม่ได้ตั้ง กสช. ประเด็นคือ รัฐเองตั้ง กสช.ไม่ได้ เมื่อไม่มี กสช. จึงไม่มีคณะกรรมการร่วมมากำหนดแผนแม่บทคลื่นความถี่แห่งชาติ ทำให้เถียงกันว่าเมื่อยังไม่มีแผนแม่บทคลื่นความถี่แห่งชาติ กทช.จะออกใบอนุญาตได้หรือไม่ ดังนั้นไม่ใช่ประเด็นเรื่องภาษีสรรพสามิต แต่เป็น ประเด็นเรื่องอำนาจ กทช.ในการออกใบอนุญาต ซึ่งเป็นปัญหาของหน่วยงานของรัฐเองหรือการบริหารงานภาครัฐ ที่คุณตั้ง กสช. ไม่ได้ ทำให้ต้องมาถกเถียงกันถึงอำนาจของ กทช.
ตอนที่ผมดูเรื่องโทรคมนาคม ผมมองจากมุมมองของผู้บริโภค ผมมองจากประสบการณ์ผมในการใช้โทรศัพท์มือถือและโทรศัพท์บ้าน เมื่อก่อนนี้ยากเย็นมากในการขอเบอร์โทรศัพท์บ้าน แต่ต้องยอมรับว่าระบบตอนนี้มันดีขึ้นมากเลยเมื่อให้เอกชนเข้ามาลงทุนและยิ่งดีขึ้นเมื่อมีการแข่งขันกัน แต่การแข่งขันกันตอนนี้จริงๆ ยังไม่เต็มประสิทธิภาพ เพราะเหตุผลเรื่องโครงสร้างระบบของรัฐมันยังไม่ดี แต่ดีกว่าให้รัฐกุมอำนาจผูกขาดแล้วบริหารกันไปในองค์การโทรศัพท์ เพราะโดยโครงสร้างของตัวระบบรัฐต้องสนับสนุนเงินลงทุน ด้วยเหตุนี้ เขาจึงให้เอกชนเข้ามาลงทุน เข้ามาทำสัญญา แล้วมันจะส่งผลทำให้เกิดการแข่งขันกัน โทรศัพท์ก็เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น
ประเด็นคือ บริษัทพวกนี้จะได้กำไรจากการประกอบการ ซึ่งบริษัทในโลกนี้ทุกบริษัท เวลาประกอบกิจการก็ต้องทำกำไร เป็นเรื่องปกติ เพราะจะอยู่ไม่ได้หากไม่มีกำไร แต่การมุ่งหวังผลกำไรก็ต้องมุ่งหวังจากการแข่งขันกันกับคนอื่น กลไกตลาดก็จะช่วย รัฐก็ต้องดูกลไกตลาดต้องสร้างความสมดุล แต่ไม่ใช่ไปจัดการทุกเรื่องหรือไปคุมจนกลไกตลาดมันเป็นไปไม่ได้ ซึ่งอันนี้ต้องดูให้รอบด้านและดูจากมุมมองผู้บริโภคด้วย ซึ่งคนบริโภคเขามุ่งหวังประสิทธิภาพจากการบริการ และค่าบริการที่ต่ำที่สุด ทีนี้วันนี้เงินค่าสัมปทานส่วนหนึ่งต้องส่งเข้าทีโอทีหรือ ทศท.โทรคมนาคม เพื่ออะไร
@ ถ้าคุณจะเก็บภาษีจากตรงนี้ คุณเก็บเข้าคลังไป(เถอะ)
ถ้าคุณจะเก็บภาษีจากตรงนี้ คุณเก็บเข้าคลังไปเถอะ (ผมไม่มีปัญหาอะไรเลยนะ) แล้วคุณปล่อยให้ TOT กับ CAT (กสท.โทรคมนาคม) แข่งกันกับคนอื่นเขาอย่างเต็มที่ มันต้องดูประสิทธิภาพการบริหารงานของหน่วยงานเหล่านี้ บัดนี้ ระยะเวลาที่จะผูกขาดโดยรัฐมันผ่านพ้นไปแล้ว
ผมก็เสียใจกับพนักงานที่ทำงานในองค์การโทรศัพท์กับการสื่อสาร ว่า เขาไม่ใช่รัฐวิสาหกิจที่มีอำนาจของรัฐอีกแล้ว เขากลายเป็นผู้ให้บริการที่ต้องแข่งกับบริษัทเอกชนรายอื่นและการแข่งขันนี้หากมันไม่มีประสิทธิภาพ คุณแข่งสู้เขาไม่ได้คุณก็จะแก่วง ที่สุดก็ต้องออกจากตลาด ก็เหมือนกับบริษัทที่เข้าสู่ตลาด ถ้าผมจะทำธุรกิจโทรคมนาคมวันนี้ ผมต้องแข็งแรงพอที่จะแข่งขันกับเขาได้นะ ซึ่งหมายถึงผมต้องมีบริการที่ดีให้แก่คนที่เป็นผู้ใช้บริการ ต้องตั้งฐานลูกค้า ต้องมีแคมเปญต่างๆ ต้องคิดการต่อสู้เพื่อให้ได้ซึ่งลูกค้าและการรักษาฐานลูกค้านี่คือการต่อสู้ทางธุรกิจ
@ แย้งศาลฎีกาฯ กรณี pre -paid
กรณีการทำ pre paid ว่า เดิมทีแอคเซสชาร์จ จ่าย 200 บาทต่อเบอร์ ซึ่งดีแทคกับทรูมูฟมีภาระตรงนี้ เป็นเหตุผลว่าทำไมกำไรของเอไอเอสจึงเยอะ เพราะว่าต้นทุนเขาน้อยกว่า คือเป็นปัญหามาตั้งแต่แรกในการเข้าสู่ตลาดที่ไม่พร้อมกันและอันนี้จะไปโทษเอไอเอสก็ไม่ได้เพราะเขาเข้าสู่ตลาดโดยทำสัญญากับองค์การโทรศัพท์ก่อน
พอตอนที่ดีแทคทำ pre-paid คือโทรศัพท์ที่ต้องจ่ายก่อน เป็นการซื้อบัตรเติมเงิน เขาก็พบว่าหากเป็นแบบนี้เขาจะประกอบกิจการนี้ไม่ได้แน่ เพราะคนใช้ pre-paid ปกติคือคนซึ่งฐานะทางเศรษฐกิจอาจจะไม่ดี เพราะอาจซื้อบัตรทีละ 50-100 บาท โดยหากเดือนไหนใช้ไม่ถึง 200 บาท เขาก็ขาดทุนแน่ๆ เพราะต้องจ่ายแอคเซสชาร์จทุกเดือน ดีแทคจึงขอแก้สัญญาขอลดราคาแอคเซสชาร์จ คุยไปคุยมาก็มีการลดให้เพื่อให้เขาแข่งขันได้
พอ เอไอเอส เห็นว่าดีแทคมีการขอแก้ไขได้ ก็ขอแก้ไขบ้าง แต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯบอกว่าไม่เกี่ยวกัน ซึ่งผมเห็นว่า ตรงนี้ฟังได้ ศาลบอกว่า เอไอเอสไม่มีค่าแอคเซสชาร์จ แล้วจะมาขอลดได้อย่างไร
ทีนี้เมื่อมันไม่เกี่ยวกัน ก็คงต้องมองว่านั่นเป็นเพียงข้ออ้างของเอไอเอสที่จะเริ่มกระบวนการแก้ไขสัญญา การขอแก้ไขเป็นเรื่องธุรกิจ เหตุที่เอไอเอสขอแก้เป็นคนละเรื่องกับผล แล้วในการพิจารณาเหตุให้แก้ เหตุผลที่องค์การโทรศัพท์ยอมให้แก้อาจจะเป็นอีกอย่างหนึ่งก็ได้ ถ้ามองจากมุมขององค์การโทรศัพท์ ถ้าแก้ไขแล้วรัฐไม่ได้เสียประโยชน์และผู้บริโภคได้ประโยชน์ ก็แก้ได้ คือสัญญาเป็นเรื่องแก้กันได้
แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่า คนไม่กล้าแก้สัญญา เพราะกลัวว่าแก้แล้วจะเป็นปัญหาไปหมด นี่เป็นปัญหาจากการบริหารราชการ เมื่อเอไอเอสขอแก้ คณะกรรมการองค์การโทรศัพท์ (ทศท.) บอกว่า ถ้าจะแก้ ต้องไปลดราคาค่าบริการให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งเอไอเอส ยอมจ่ายตรงนี้น้อยลง แล้วไปลดราคาให้แก่ผู้บริโภค เขาก็ไปทำจริง มีค่าโทรลดลงช่วงหนึ่ง เพราะเอไอเอสจ่ายส่วนแบ่งให้ทีโอทีลดลง เขาจึงสามารถลดราคาให้ผู้บริโภคได้ เมื่อลดราคาก็มีการแข่งขันในตลาด กลไกในตลาดก็เดิน แม้เป็นกลไกที่เอไอเอสยังได้เปรียบอยู่ เพราะเป็นผลพวงจากรัฐที่แบ่งรัฐวิสาหกิจเป็น 2 แห่ง ซึ่งไปโทษฝ่ายเอกชนไม่ได้ จะต้องดูภาพสมมติฐานปัญหาก่อน
ถามว่า เอไอเอสลดราคา แล้วทำให้องค์การโทรศัพท์หรือปัจจุบันคือทีโอทีเสียประโยชน์ไหม คำตอบคือ ไม่เสีย เพราะหลังจากลดไปเหลือ 20 เปอร์เซ็นต์แล้วทำให้ฐานลูกค้าเอไอเอสมากขึ้น มีรายได้จากการประกอบการมากขึ้น ทำให้ส่งส่วนแบ่งรายได้ให้ทีโอทีมากขึ้น ในภาพรวมจึงได้ส่วนแบ่งรายได้มากกว่าเดิม เป็นแบบนี้ทีโอทีไม่ได้เสียประโยชน์
@ ศาลฎีกา อ้างวิจัย ทีดีอาร์ไอ. ?
ผมดูจากน้ำหนักของศาล ในคำพิพากษา ศาลให้น้ำหนักกับประเด็นของ อาจารย์สมเกียรติ อ้าง"อาจารย์สมเกียรติ" และบอกว่าอาจารย์สมเกียรติทำวิจัยต่างๆ แต่อีกด้านหนึ่ง ก็ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับส่วนแบ่งรายได้ของทีโอทีในคำพิพากษา นี่เป็น fact นี่เราไม่ได้เถียงเรื่องข้อเท็จจริงเลยนะครับ เพราะข้อเท็จจริงตรงกัน ศาลเองก็ยอมรับว่าทีโอทีได้ประโยชน์มากขึ้น แต่ศาลก็บอกว่า เมื่อทีโอทีได้ประโยชน์มากขึ้น ทำให้เอไอเอสก็ได้ประโยชน์มากขึ้นด้วย ลูกค้าก็มากขึ้น ซึ่งความจริงแล้วการที่ลูกค้ามากขึ้นเป็นเรื่องปกติในทางธุรกิจของตลาด และการขยายตัวของโทรคมนาคมยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว เป็นจุดที่คนยังต้องการใช้ไม่ใช่เรื่องประหลาด แต่การแก้ไขดังกล่าวทีดอทีไม่ได้เสียประโยชน์มิหนำซ้ำได้ประโยชน์มากขึ้น เอไอเอสก็ได้ประโยชน์ และผู้บริโภคก็ได้ประโยชน์ด้วย เพราะราคาค่าโทรศัพท์ถูกลง
@ วรเจตน์ มองไม่เห็นอำนาจเบ็ดเสร็จของทักษิณ (หรือ) ???
ผมคิดว่าความคิดแบบนี้อันตราย ถ้าเราใช้ "ความเชื่อ" ลงโทษคน จะเกิดอะไรขึ้น เช่น เชื่อว่าคนขี้ยาฆ่าข่มขืนผู้หญิงคนหนึ่ง แต่ความจริงเขาอาจจะไม่ได้ทำ แต่คนเชื่อว่ามันฆ่าข่มขืนก็ให้ประหารชีวิตมันไป
ผมเชื่อในหลักการ และอยากจะบอกแบบนี้ว่า ภายใต้การต่อสู้ทางการเมืองที่มีกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองจำนวนมากเข้าร่วมวงต่อสู้ กลุ่มผลประโยชน์ทุกกลุ่มต่างต้องการช่วงชิงชัยชนะให้กับตัวเอง การต่อสู้ก็มีวิธีการหลายวิธี เช่น การโฆษณาชวนเชื่อ การให้ข้อมูลด้านเดียว การให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ต่างๆ เหล่านี้ทำกันมา คนคนหนึ่งอาจจะทำ 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ผลของการโฆษณาชวนเชื่ออาจจะทำให้คนเชื่อว่าไอ้หมอนี่ทำ 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ความเชื่อนั้นใช้ไม่ได้ในทางกฎหมาย ถ้าคุณจะเชื่ออย่างไรนั้นก็ว่ากันทางการเมือง
ถ้าคุณอยากจะยึดทรัพย์คุณทักษิณ คุณรัฐประหารล้มเขาแล้ว คุณออกประกาศยึดไปเลย ส่วนในอนาคตถ้าเขาจะกลับมาจะนิรโทษกรรมอะไร ก็เป็นเรื่องในอนาคตข้างหน้า แต่ถ้าจะใช้กระบวนการทางกฎหมาย ก็ต้องมีเหตุผล
ผมกำลังจะบอกว่า เรากำลังเอา 2 เรื่อง มาปนกัน เพราะการรัฐประหาร มันเป็นเรื่องอำนาจ เป็นเรื่องปืน รถถัง มันเถื่อนเพราะมันไม่จำเป็นต้องให้เหตุผล แต่กระบวนการยุติธรรม กระบวนการตามกฎหมาย มันใช้เหตุผล มันมีหลัก ใช้ความเชื่อไม่ได้ ถ้าไม่อย่างงั้น ก็ไม่ต้องเรียนวิชานิติศาสตร์ ไม่อย่างงั้นผมก็ไปเรียนวิชายิงปืนสิ ผมจะมาเรียนกฎหมายทำไม และถ้าผมเชื่อว่าใครทำผิดผมก็ยิงมันเลย ถ้ามันชั่วนัก
ผมจะบอกว่าทั้ง 2 อย่างนี้ มันเหมือนน้ำกับน้ำมัน มันไปด้วยกันไม่ได้ และถ้าเอามาผสมกันมันจะสร้างความเสื่อมให้กับตัวระบบ ที่เราสร้างขึ้น
เพราะฉะนั้นถ้าคุณจะทำอะไร คุณก็ทำไปสิ ตั้งแต่ตอนที่คุณมีปืน ที่คุณคิดว่าทำด้วยความหวังดี ทั้งๆที่การรัฐประหารมันเป็นความเถื่อน แต่คุณคิดว่าต้องทำเพราะว่าไอ้ระบบธรรมดามันใช้ไม่ได้ คุณก็ให้เหตุผลไป ผมจะเชื่อหรือไม่เชื่อมันเป็นเรื่องของผม แต่เมื่อเข้าสู่กลไกทางกฎหมาย เกิดระบบรัฐธรรมนูญ คุณต้องทำตามหลัก จะเอาความเชื่อมาใช้ไม่ได้ แล้วคุณรู้ได้ยังไงว่าที่เราเชื่อนั้นเป็นความเชื่อที่ถูก ความเชื่อต้องประกอบด้วยเหตุด้วยผลที่พิสูจน์ได้ นี่เราอยู่ในยุคของการพิสูจน์ยุคของเหตุผลนะครับ หรือว่าผมเข้าใจผิด ที่จริงแล้ว เราไม่ได้อยู่ในยุคของเหตุผล
@ จุดยืนของ 5 อาจารย์คณะนิติศาสตร์
อาจารย์ทั้ง 5 ต้องการปกป้องหลักการ ในตอนท้ายของบทวิเคราะห์ฯ ฉบับเต็ม เราเขียนว่า "คณาจารย์ทั้งห้ายืนยันว่า ความเห็นต่างของเราเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการไม่ยอมรับรัฐประหาร หลักการเคารพกระบวนการทางกฎหมายที่เป็นธรรม หลักดุลยภาพแห่งอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายตุลาการ หลักความมั่นคงแห่งนิติฐานะและคุ้มครองความเชื่อถือไว้วางใจต่อการดำรงอยู่ของกฎหมาย หลักการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม ซึ่งหลักการทั้งหลายเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งในนิติรัฐ-ประชาธิปไตย และคณาจารย์ทั้งห้ายืนยันที่ปกป้องหลักการทั้งหลายเหล่านี้อย่างสุดกำลังด้วยความบริสุทธิ์ใจ"
คำตอบอยู่ตรงนี้ อยู่ในย่อหน้าสุดท้ายของบทวิเคราะห์ นี่คือสิ่งที่เราทำ เราต้องการปกป้องตรงนี้ ทีนี้ก็มีคนมอง เช่น อาจารย์คณะผมบางคนเคยเขียนว่าเป็นองครักษ์พิทักษ์ปลวกหรือไง หรืออะไรสักอย่าง ผมมองว่าคนที่พูดแบบนี้ คือไม่เข้าใจ ในทางตรรกะคือแยกไม่ออกระหว่างความต้องการส่วนตัวของตนหรือรสนิยมทางการเมืองของตน ความชอบความชังของตนกับหลักการในทางกฎหมาย การรักษาไว้ซึ่งจรรยาบรรณในทางวิชาชีพกฎหมาย ความเป็นมืออาชีพ ความคิดอย่างนี้คือเอาความต้องการของตนเป็นใหญ่ ไม่ได้เอาหลักการเป็นใหญ่ สังคมในยุคนี้จึงเป็นอย่างนี้
@ สังคมไทย แห้งแล้งความรู้
ชุมชนในอินเตอร์เน็ต ที่ด่าผม จริงๆ ผมฟังแล้วก็นึกสังเวชใจอยู่ว่าไม่ค่อยหาความรู้ คือสังคมไทย มันแห้งแล้งความรู้นะ มันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยความเชื่อ อคติ ความเห็น โดยไม่มีฐานของความรู้เลย คือเรื่องบางเรื่อง เราอย่าเพิ่งไปพูดถ้าเราไม่รู้จริงหรือเรายังไม่ได้เข้าไปดูในเนื้อหา
เราอาจจะพูดได้ ว่าเรื่องนี้เราไม่ชอบนายกรัฐมนตรีที่มีความพัวพันในเรื่องนี้ เราไม่ชอบเขา เราไม่เลือก การตัดสินใจทางการเมืองโดยผ่านการเลือกตั้ง ผมเคารพคะแนนเสียงของประชาชน ไม่มีปัญหา แต่ผมกำลังจะบอกว่าบัดนี้เป็นเรื่องกฎหมาย ซึ่งกฎหมายเป็นเรื่องเหตุผล
ทีนี้มีคนบอกว่า แล้วศาลฎีกาฯ ตัดสิน คุณไม่เชื่อศาลเหรอ ผมคิดว่า ผมจะเชื่อศาลก็ต่อเมื่อผมอ่าน ตรรกะต่างๆ ซึ่งจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ไม่ใช่เรื่องอำนาจที่จะมาบังคับให้ผมเชื่อ อำนาจไม่สามารถทำให้คนเชื่อหรือไม่เชื่อ ไม่สามารถทำให้คนรักหรือบูชา ทำไม่ได้ทั้งสิ้น
ผมต้องดูเหตุผล แล้วถามว่าความผิดพลาดมันมีไหม ขอให้นึกถึงคดีเชอรี่แอน ความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมมันเกิดขึ้นได้เสมอ เกิดขึ้นได้หลายลักษณะ อันนี้ไม่ได้พูดถึงในคดีนี้ เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าไปพูดถึงคดีนี้ แต่นึกถึงภาพรวมทั้งหมด กระบวนการยุติธรรมในช่วงเวลาหนึ่งภายใต้กระแสความคิดความเชื่อของคนในสังคมอย่างหนึ่ง มันเป็นอย่างหนึ่ง นึกถึงสมัยกลางภายใต้ความคิดของศาสนจักร มันเป็นอย่างไร มนุษยชาติผ่านตรงนั้นมาแล้ว เราจึงใช้เหตุผล คุณค่าสูงสุดจึงเป็นคุณค่าที่เราเขียนเอาไว้ในย่อหน้าสุดท้ายของบทวิเคราะห์ฉบับเต็ม ใครที่บอกว่าเราไปพิทักษ์อะไรแสดงว่ายังมองไม่เห็นคุณค่านั้น บางคนยังมองไม่เห็นเพราะใช้ความเชื่อของตัวเองเป็นใหญ่ อคติเต็มหัว

@ อภิสิทธิ์ อ้างว่าที่มารัฐบาลถูกต้อง เหมือน สมัครและสมชาย
มีคนบอกว่าถ้าคนเสื้อแดงจะค้านก็ค้านรัฐบาลสมัครกับสมชายด้วยสิ เพราะเป็นผลพวงของรัฐประหารเหมือนกัน คราวนี้ทำไมไม่แยกแยะ ละครับคราวนี้มองแต่รูปแบบแต่ ไม่ได้มองเนื้อของเรื่องว่ามายังไง
ผมว่าเรื่องนี้นี่พูดก็พูดไม่ต้องเกรงใจ คุณอภิสิทธิ์ รู้ตัวดีที่สุด ว่าตัวเองมายังไง ถามใจคุณอภิสิทธิ์ ในใจคุณอภิสิทธิ์เองว่า รัฐบาลนี้เกิดขึ้นยังไงแบบแฟร์ๆ ไม่ต้องพูดถึงกรณีที่สื่อลงข่าวกันว่าตั้งรัฐบาลกันที่ไหน แต่ผมถามว่าถ้าไม่มีการยุบพรรคพลังประชาชน จะเกิดรัฐบาลนี้ขึ้นได้ไหม
ถามว่ากระบวนการพิสูจน์ว่าพรรคพลังประชาชนทุจริตการเลือกตั้ง มีกระบวนการอย่างไร แล้วกลไกรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่นั้นมันเป็นธรรมไหม ที่คนคนเดียวทำผิดแล้วยุบพรรค รวมทั้งตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคที่ไม่เกี่ยวข้อง มันเกิดจากหลักเกณฑ์ที่ยุติธรรมไหม
ถามว่า คดีที่เกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ 2-3 เรื่อง มันเป็นอย่างไร มันช้ามันเร็วอย่างไร นี่มีคนบอกว่าเขากำลังทำอยู่ รวมทั้งอธิการบดีของผมก็บอกว่ากำลังนี่เขากำลังทำอยู่ ช้าหน่อยไม่เป็นไร แต่ผมมองว่ากระบวนการทั้ง 2 กระบวนการ อันหนึ่งแล่นอย่างกับรถด่วน แต่อีกกระบวนการหนึ่งไปอย่างกับซาเล้ง ถ้าคุณทำใจเป็นกลางๆ ประเด็นนี้ที่เสื้อแดงพูดว่า 2 มาตรฐาน ก็เป็นเรื่องเห็นๆกันอยู่จะปฏิเสธยังไง
ลองสมมติแบบไม่ดูหน้าคนสิ ลองสมมติแบบนายเอ นายบี มีเพื่อนผมสอนกฎหมายมหาชน เวลาสอนไม่บอกว่าหมายถึงใครแต่ตั้งเป็นปัญหาตุ๊กตาสมมติ ลอยๆ ขึ้นมาแล้วถามนักศึกษา ปรากฏว่านักศึกษา บอกว่ามันไม่ได้ ไม่ถูกต้อง อย่างงั้นอย่างงี้ มันผิดหลักหมด พอเฉลยมาก็อึ้งกันหมด บอกว่าคนที่ทำอย่างนี้คือ.... ก็อึ้งกันหมด คือไปกันไม่ถูก เพราะคิดถึงหน้าคนอยู่ตลอดเวลาในการตัดสิน ไม่ได้คิดถึงระบบเรื่องหลัก
ถึงบอกว่า คุณ เทียบไม่ได้เลย การเลือกตั้ง 23 ธ.ค. เป็นการเลือกตั้งภายใต้ร่มเงาของรัฐประหารอยู่ รัฐบาลมาจาก คมช. ส่วน กกต. ก็มาจากผลพวงของการรัฐประหาร แม้ว่าจะตั้งจากคนที่ศาลฎีกาเลือกมา แต่ภายใต้บริบทต่างๆ เราจะเห็นได้ว่ากลิ่นอายบรรยากาศของรัฐประหาร มันยังอยู่ ภายใต้ความเสียเปรียบของพรรคพลังประชาชน นี่พูดกันแฟร์ๆ แล้วทำไมเขาได้คะแนนมาเกือบครึ่ง
แปลว่าคนเลือกพรรคนี้มันโง่เหรอ มันไม่ฉลาดเลย เคยเลือกพรรคไทยรักไทยมาแล้วเลือกพรรคนี้อีก มันโง่เหรอ ต้องเลือกอีกพรรคหนึ่งใช่ไหมถึงจะฉลาด ต้องเอาอย่างงั้นใช่ไหมประเทศนี้ คือถ้าเลือกพรรคนี้มันโง่ ต้องเลือกอีกพรรคหนึ่งเท่านั้นคุณถึงจะเป็นคนฉลาด ดูดีมีชาติตระกูล นี่ผมกำลังอธิบายแบบไม่ต้องมีอคติอะไร ไม่ต้องดูหน้าเลย ก็คนเขาเลือกและนี่คือการตัดสินใจทางการเมือง เสร็จแล้วมีคนบอกว่ามีเรื่องซื้อเสียง
ผมถามว่าการซื้อเสียงมันพิสูจน์ยังไง ก่อนรัฐประหารก็บอกว่าได้มาจากการซื้อเสียง หลังรัฐประหารแล้วไง ยังได้มาจากการซื้อเสียงภายใต้ความคุมเข้มของ กกต. อย่างงั้นเหรอ หรือเป็นเพราะคนเขาเลือกยังไงเขาก็เลือก เขาจะบอกว่าเขาเลือกอย่างนี้ ไม่สนใจว่าคนกรุงเทพฯจะบอกว่าผมโง่ จะทำไมผม มันเป็นสิทธิ์ ของผม ผลก็ออกมาเป็นอย่างงั้น เกือบครึ่ง มันก็บีบพรรคอื่น คุณบรรหาร ก็ยังบอกว่า ถ้าได้มาถึงขนาดนี้มันช่วยไม่ได้นะ เพราะถ้าไปรวมกับประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาล ก็ไม่มีเสถียรภาพหรอก ซึ่งมันก็ถูกของเขา เขาถึงไปร่วมกับพรรคพลังประชาชน ต่อมาจึงมีเหตุยุบพรรค ยุบแล้วถึงแตก แล้วแตกยังไงอีกหน่อยประวัติศาสตร์ก็บอกเอง และรัฐบาลเกิดขึ้นจากตรงนี้ รัฐบาลสมัคร สมชาย เป็นผลโดยตรงมาจากการเลือกตั้ง ส่วนรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ ไม่ใช่ผลโดยตรง แต่เป็นผลจากการยุบพรรคพลังประชาชนในขณะที่มีผู้ยึดสนามบินสุวรรณภูมิอยู่
@ คนรักประชาธิไตย รับไม่ได้ หรอกครับ
คุณอภิสิทธิ์ ได้รับการเลือกในสภาจริง แข่งกับ พล.ต.อ.ประชา จริง ไม่มีใครเถียง แต่ว่าการเกิด มันเกิดจากการยุบพรรคและล้มรัฐบาลไปสองรัฐบาล และเหตุผลที่ล้ม คือคุณสมัคร โดนคดีทำกับข้าว ซึ่งว่ากันตามหลักเกณฑ์ทางนิติศาสตร์แล้ว ประหลาดที่สุด ตามมาด้วยการยุบพรรคพลังประชาชนเพราะคนคนหนึ่งถูกลงโทษว่ากระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งแล้วก็ยุบ แล้วทำให้รัฐบาลสมชายล้ม เราจะปฏิเสธอำนาจที่มันดำรงอยู่จริง ซึ่งไม่เป็นอำนาจในระบบ มันเป็นไปไม่ได้อีกแล้วและนี่คือประเด็นปัญหา และเป็นคำตอบว่าทำไมเสื้อแดงถึงมีพลังในการเคลื่อนไหวที่ผ่านมา มันเป็นไปไม่ได้เลยถ้าความเคลื่อนไหวไม่อยู่บน พื้นฐานของเหตุผล คนที่มีใจเป็นธรรม รักระบอบประชาธิปไตย เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เห็นแบบนี้รับไม่ได้หรอกครับ
@ ถ้าอาจารย์เป็นอภิสิทธิ์ จะนำสังคมออกจากความขัดแย้งได้อย่างไร
คือผมไม่ได้เป็นคุณอภิสิทธิ์ และคุณอภิสิทธิ์ ก็ไม่ใช่ผม เพราะถ้าผมเป็น... ผมจะไม่ตั้งรัฐบาลอย่างที่เกิดขึ้นอย่างนี้ คือถ้าผมเป็น ... ผมจะเป็นอีกอย่างหนึ่งเลยตั้งแต่แรก แม้ว่าผมจะเป็นคู่ต่อสู้ทางการเมืองของคุณทักษิณก็ตาม ผมจะไม่เป็นอย่างนี้อย่างแน่นอน ยอมรับรัฐประหารไม่ได้ ผมก็จะบอกว่าไม่ได้ และก็ต่อต้านด้วย เพราะในระบอบประชาธิปไตย เมื่อเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น ทุกพรรคการเมืองต้องเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการจัดการกับอำนาจนอกระบบ
เพราะทุกพรรคการเมืองต้องคิดว่าคนที่พรรคการเมืองจะต้องรับใช้คือประชาชน ไม่ใช่อื่นใดทั้งสิ้น ในระบอบนี้ต้องถือว่าประชาชนสูงสุด ดังนั้นผมสมมติตัวเองเป็นคุณอภิสิทธิ์ในเวลานี้ไม่ได้ เพราะมันจะไม่เป็นอย่างนี้ตั้งแต่แรก มันจะไม่มาถึงจุดแบบนี้
@บ้านเมืองมีทางออกไหม สถานการณ์เช่นนี้
ผมว่า ยากครับ ก็ผมบอกมาตั้งแต่ตอนรับรัฐธรรมนูญแล้วครับ ว่ารัฐธรรมนูญเป็นอย่างนี้มันจะสร้างปัญหาให้กับบ้านเมืองร่ำไป มันไม่มีทางออก ถ้ากติกาพื้นฐานยังเป็นแบบนี้อยู่
@ ถ้าจะแก้ปัญหาต้องแก้รัฐธรรมนูญ
ใช่ แต่ว่าการแก้รัฐธรรมนูญหรือที่จริงคือทำรัฐธรรมนูญใหม่มันเป็นเพียงประเด็นอันหนึ่ง แม้ว่าจะเป็นส่วนสำคัญ เพราะรัฐธรรมนูญอย่างเดียวมันไม่พออยู่แล้ว และบรรดาอำนาจซึ่งไม่เข้าสู่ระบบทั้งหลายทั้งปวงต้องหยุดได้แล้ว รู้ตัวกันดีอยู่
@พลังในสังคมบางส่วนกำลังเคลื่อนไหว ให้สมานฉันท์ ให้ยุติความรุนแรง เชื่อพลังสังคม พวกนี้ไหม
พลังนี้ออกมาได้ยังไง ผมประหลาดใจมากกับพลังแบบนี้ คือ "พลังขาวเนียน" นี่พูดจริงๆ คำนี้อาจารย์พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์มั้ง ที่ใช้คำนี้ ผมชอบจริงๆ คำนี้ คือ พอเห็นว่าแบบที่เคยสู้ๆ มามันไปไม่ได้ ก็มาเปลี่ยนแล้ว เปลี่ยนเนียน พอเห็นแดงมาเยอะหน่อย คุณก็มาเรียกร้องสันติ อะไรกันอีกแล้ว คือ ช่างเลือกเวลาเรียกร้องกันจริงๆ
มันไม่ใช่ คือถ้าคุณจะพูด คุณต้องดูบริบทความเป็นมาก่อน คุณกระทืบเขา คุณจัดการกับเขาโดยกลไกที่มันเป็นปัญหา ที่สืบเนื่องมาจากรัฐประหาร พอเขามีพลังขึ้นมาบ้าง เขาสู้ขึ้นมาบ้าง คุณกลับบอกว่า เออๆๆ สันติ สมานฉันท์ อย่าใช้ความรุนแรง แล้วตอนที่คุณจัดการเขานี่ มีความรุนแรงที่ไม่ใช่ความรุนแรงทางกายภาพเนี่ย มันเป็นความรุนแรงในเชิงระบบที่คุณปฏิเสธอำนาจที่เขาเลือกตั้งของเขามา คุณทำรัฐประหาร สนับสนุนการรัฐประหารแบบอ้อมๆ เนียนๆ เขาเลือกรัฐบาลมาคุณก็ไปล้ม นี่พูดแบบแฟร์ๆ นะ เออ พูดไปพูดมากลายเป็นว่าคนมองว่าผมเป็นแดงแล้ว แต่ผมไม่สนใจหรอก ผมพูดความจริง ผมพูดจากสิ่งที่ผมเห็น พูดจากหลักการ หลักการที่ถูกต้องเป็นอย่างนี้ สีที่คนอื่นป้ายให้ไม่อาจทำลายหลักการตรงนี้ได้หรอก
@อาจารย์เห็นด้วยกับข้อเสนอให้ยุบสภาแล้วกลับไปเลือกตั้งหรือไม่
การยุบสภาไม่ได้ทำให้ความขัดแย้งหมดไป แต่จะช่วยทำให้มันมีหนทางมากขึ้นในเชิงของการเจรจากันในวันข้างหน้า ในการพูดกันถึงการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ หรือการรีฟอร์มกันใหม่ เซท กันใหม่ มันเปิดทางในแง่นี้ เพราะเราต้องยอมรับว่า รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ เกิดจากการไปล้ม 2 รัฐบาลแล้วเกิดการเปลี่ยนขั้ว และไม่ได้เกิดขึ้นมาจากในระบบธรรมดา แต่เกิดขึ้นมาจากการยุบแล้วบีบ แล้วเปลี่ยน
ไปถามคนที่เขาเปลี่ยนสิ เพราะอะไรเขาถึงเปลี่ยน พูดกันจริงๆ คือสังคมนี้ มันพูดกันไม่สุด คือไม่พูดกันว่าทำไมคุณถึงเปลี่ยนละ มันเกิดอะไรขึ้น คุณถูกใครบีบ กล้าพูดกันไหมล่ะครับเรื่องแบบนี้ ในสังคมนี้
ผมว่า ปัญหาในสังคมนี้มันจะไม่หมดเลยถ้าเรายังพูดกันแบบนี้ เรายังมีเพดานอยู่ตลอดเวลาในการพูดแล้วเราก็อยู่กันตรงนี้ ที่หนักไปกว่านั้นก็คือสำหรับคนจำนวนไม่น้อยยังมีเพดานในการคิดด้วยส่วนคนที่เห็น คนที่คิด ก็พูดกันนอกรอบไม่สามารถพูดในสาธารณะได้ เพราะมีข้อจำกัดอยู่ แล้วจะแก้ปัญหาได้ยังไง

อ่านต่อ...ด้านล่าง


แก้ไขล่าสุดโดย RED LETTER เมื่อ Wed Mar 31, 2010 4:52 am, ทั้งหมด 1 ครั้ง
RED LETTER
RED LETTER

จำนวนข้อความ : 266
Join date : 24/09/2009

ขึ้นไปข้างบน Go down

**เปิดข้อมูลใหม่ "วรเจตน์ ภาคีรัตน์ " ความหวังสุดท้าย"ทักษิณ" หวังพลิกคดียึดทรัพย์.. Empty Re: **เปิดข้อมูลใหม่ "วรเจตน์ ภาคีรัตน์ " ความหวังสุดท้าย"ทักษิณ" หวังพลิกคดียึดทรัพย์..

ตั้งหัวข้อ by RED LETTER Wed Mar 31, 2010 4:41 am

@มีผู้เสนอว่า แก้รัฐธรรมนูญก่อน ถ้ายุบสภาตอนนี้ความขัดแย้งจะลงสู่สนามเลือกตั้ง
เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ถูกถ่วงมาตลอด เวลาจะแก้ที ก็มีคนบอกว่าอย่าแก้ เพราะแก้เพื่อประโยชน์พรรคการเมือง และก็มีกลุ่มพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่ความจริง บางคนตอนทำรัฐธรรมนูญก็บอกว่ารับๆ ไปก่อน เคยไปดีเบทกับผม ผมยังจำได้ เขาบอกว่าสมู๊ทที่สุดคือรับไปก่อน แล้วพอรับเสร็จแล้วค่อยมาแก้
พอจะแก้ปุ๊บวันนี้บอกว่าแก้ไม่ได้ เพราะแก้ไปจะไปเอื้อประโยชน์นักการเมือง นี่คนพวกนี้เขาเป็นแบบนี้และเป็นคนระดับปัญญาชน คนนำสังคม แล้วจะนำสังคมได้ยังไง ในเมื่อคุณยังพูดกลับไปกลับมา ยังกลับกลอกอย่างนี้ คือผมไม่มีปัญหาเลยนะ เมื่อรัฐธรรมนูญผ่านประชามติมาแล้ว ผมก็ยอมรับว่ามันผ่าน แต่สามารถแก้ไขได้จากกฎเกณฑ์การแก้ไขที่อยู่ในรัฐธรรมนูญนั่นแหละ แต่พอจะแก้แล้วมาบอกว่าห้ามแก้ นี่มันมากไปแล้ว ผมถามหน่อยว่ารัฐธรรมนูญเป็นของคุณคนเดียวเหรอ
แล้วอย่าอ้างว่าแก้เพื่อผลประโยชน์พรรคการเมือง เพราะคนที่ค้านก็ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ บางคนได้ประโยชน์ไปดำรงตำแหน่งที่เกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไปเป็น สว. สรรหาจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทีตัวเองได้ประโยชน์ทำไมไม่พูด ถ้าคุณพูดเรื่องผลประโยชน์ คุณควรจะอายตัวเองบ้าง คุณพูดเรื่องหลักการสิ ว่าหลักการที่ควรจะเป็นในทางประชาธิปไตยเป็นยังไง ถ้าประโยชน์เกิดจากหลักการที่ถูกต้อง คุณต้องยอม ไม่อย่างนั้นก็จะอยู่ในวังวนแบบนี้
ทีนี้เวลาอ้างการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน ก็จะถูกมองว่าเป็นการซื้อเวลาให้รัฐบาลแล้ว คนที่อยู่อีกฝ่ายหนึ่งจะยอมหรือ
@ ที่สุดแล้วการต่อสู้ของเสื้อแดงรอบนี้อาจกลับบ้านมือเปล่า
ก็เป็นไปได้ เพราะแบกน้ำหนัก เสื้อแดงชุมนุมเหมือนนักมวยขึ้นชก สู้แบบแบกน้ำหนัก คุณสู้กับใครละ
@ ข้อเสนอให้เปิดพื้นที่กลางๆ ทั้ง 2 ฝ่ายได้คุย
ก็เป็นไปได้นะ
@ คุยเรื่องอะไร
เบื้องต้น คุณอาจจะปรับเพราะกลไกระยะสั้นที่สุด เรื่องระบบเลือกตั้งที่ไม่เป็นไปตามระบบ ก็ทำให้มันเคลียร์ ถ้าจะทำจริงๆ เดือน 2 เดือนก็เสร็จ แก้ซะตรงนี้ไปเปลาะหนึ่งก่อน จากนั้นก็ไปสู่การเลือกตั้ง แคมเปญสู้กัน แล้วรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ควรจะรีฟอร์มใหม่ไหม ทั้งฉบับ หรือไม่ก็คุยกันเรื่องเงื่อนเวลาในการยุบสภา ว่าจะยุบและจัดการเลือกตั้งภายในเวลาเท่าไหร่ นี่คือประนีประนอมที่สุดที่จะเป็นไปได้
@ มีบางคนบอกว่าคุณทักษิณควรจะหยุดเหมือน ท่านปรีดี (พนมยงค์) คือไม่ต้องกระโดดมาต่อสู้แบบนี้ คือท่านปรีดี ต่อสู้ผ่านทนายความ เวลาหมิ่นประมาทท่านก็สู้ตามกฎหมาย ท่านยินดีจะเสียสละตัวเอง ไปอยู่ต่างประเทศจนสิ้นชีวิต
สำหรับผม ผมนับถือท่านผู้ประศาสน์การ(ปรีดี พนมยงค์) มาก และนี่ไม่ได้พูดถึงคุณทักษิณ จะพูดถึงแต่ท่านผู้ประศาสน์การ ไม่โยงกับคุณทักษิณ
ผมคิดว่าท่านผู้ประศาสน์การไปอยู่เงียบๆ ในต่างประเทศนั้น อาจจะเป็นความผิดพลาดก็ได้ ผมขออภัยผู้ที่นับถือท่านผู้ประศาสน์การ ผมก็นับถือท่านผู้ประศาสน์การ และเห็นว่าท่านมีคุณูปการอย่างมากแก่สังคมไทย แต่นี่เป็นการประเมินของผม ขณะที่ท่านอาจจะมีความจำเป็นที่ต้องเป็นอย่างนั้น ซึ่งถ้าผมเห็นความจำเป็นอันนั้นของท่าน ผมอาจจะไม่ประเมินอย่างที่ประเมินก็ได้ แต่โดยเหตุที่ผมไม่เห็น ผมจึงรู้สึกว่าการที่ท่านไปอยู่ต่างประเทศเงียบๆในอีกมุมหนึ่งก็ส่งผลทำให้ภารกิจการอภิวัฒน์ขาดช่วงไป ไม่บริบูรณ์ แต่แน่นอนถ้าคิดถึงชีวิตครอบครัวของท่าน ข้อจำกัดในการต่อสู้ คิดถึงสิ่งเหล่านี้ประกอบกันก็คงโทษท่านไม่ได้
สังคมไทยอาจจะมองว่าดี แต่ผมกลับมองอีกด้านว่า ในที่สุดสังคมไทยยังไม่ไปไหน บางทีบทบาทอีกมุมหนึ่งที่ท่านไม่ได้ทำ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะข้อจำกัดหลายอย่างที่ผมไม่รู้ มันอาจจะทำให้สังคมไทยไปไกลกว่านี้แล้วในเวลานี้
ความจริงท่านปรีดี ท่านสู้ จนถึงเกิดกบฏวังหลวง ปี 2492 นี่คือการสู้ แต่กำลังท่านไม่พอ ท่านแพ้ และแน่นอนว่าความสะเทือนใจของท่านอาจจะหลายอย่าง คนหลายๆ คนซึ่งเป็นเพื่อนร่วมต่อสู้ของท่านจบชีวิตไปในการต่อสู้ ซึ่งผมเข้าใจได้ในแง่ความเป็นมนุษย์ และท่านเลือกอย่างนั้น ผมเคารพในการตัดสินใจของท่าน
ท่านอาจอยากจะทำ แต่ท่านประเมินแล้วว่ากำลังไม่พอ ความจริงหลายอย่างมันจึงไปพร้อมกับตัวท่าน สังคมนี้ก็ยังกลายเป็นสังคมที่เรายังไม่พูดความจริงอย่างถึงที่สุด
ส่วนเรื่องของคุณทักษิณ นั้น ผมไม่ได้มีส่วนเกี่ยวพันอะไรกับท่าน ผมทำในส่วนที่เป็นวิชาชีพวิชาการของผม ถ้าคุณทักษิณได้ประโยชน์จากหลักการที่ผมพูด อันนี้ก็ไม่เกี่ยวกับผม แต่เราต้องไม่ลืมนะว่าบริบททางการเมืองสมัยท่านปรีดีกับคุณทักษิณแตกต่างกัน
ผมคิดว่าระบบมันคงจะเซทไปเอง ในทางวิชาการ เราก็ให้ความรู้จากหลักที่ถูกต้อง ไม่ได้เอาความคิดความเชื่อของตัวเท่านั้นเป็นใหญ่ ก็ใช้ความรู้ให้มาก ผมก็ยังต้องสำรวจตรวจสอบตัวเองอยู่ตลอดเวลา คุยกับคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ดูเหตุดูผลอยู่ตลอดเวลา ชีวิตที่ไม่มีการตรวจสอบเป็นชีวิตที่ไม่มีคุณค่า โสเครติส บอกเอาไว้ เมื่อสักสองพันห้าร้อยปีมาแล้ว
ผมไม่ได้สนใจตำแหน่งทางบริหาร คือผมอยากทำงานวิชาการ ฉะนั้น ผมพูดได้โดยที่ผมไม่ต้องสนใจว่าผมจะได้เป็นอะไร หรือไม่ได้เป็นอะไร วันนี้ตำแหน่งทางวิชาการ ก็ไม่ได้อยู่ในความอาลัยของผมเลย ตั้งแต่จะต้องวิวาทะกับหลายท่านในวงการนิติศาสตร์ ผมอาจจะไม่ต้องเป็นศาสตราจารย์เลยในชีวิตของผม ผมไม่มีปัญหาเลยกับเรื่องพวกนี้ ถ้าการไปอาลัยอาวรณ์ต่อตำแหน่งเหล่านั้น มันไม่สามารถทำให้เราแสดงความเห็นให้กับสังคมได้อย่างบริสุทธิ์ ได้อย่างอิสระ ก็ไม่ต้องหรอก เพราะชีวิตคนเรามันมีอะไรมากอยู่ได้อีกสักกี่ปี อีก 20 ปี ผมก็จะเกษียณ
@ อยากให้คนรุ่นหลังรู้จักอาจารย์ในฐานะอะไร
ก็เป็นครูสอนกฎหมาย ที่เคารพในหลักการที่สอน และทำตามที่ตัวเองเชื่อในหลักการที่สอน
@ วันข้างหน้าจะเล่นการเมืองไหม
เราไม่รู้อนาคต มีคนถามเมื่อหลายปีก่อน ผมบอกว่าผมตอบไม่ได้หรอก เขาก็ถามว่าแสดงว่าใจก็คิดอยู่สิว่าจะเล่น เออก็แล้วแต่คนจะคิด คือเราจะไปพูดอะไรให้มันไปเป็นเรื่องฟันลงไปร้อยเปอร์เซ็นต์ยังไง เราไม่รู้ชีวิตของเราข้างหน้า ที่จะเดินไปในวันต่อๆ ไปจะเป็นยังไง ผมรู้แต่ว่าวันนี้มีความสุขในการสอนหนังสือ พอใจกับสถานภาพชีวิตที่เป็นอยู่ และใช้วิชาที่เรียนรู้มาทำงานให้สังคมเท่าที่ทำได้ ส่วนวันข้างหน้า ก็ปล่อยให้เหตุปัจจัยเป็นเครื่องกำหนดดีกว่า อย่าเอาคำตอบว่าเล่นหรือไม่เล่น ผมไม่รู้หรอก ถ้าเหตุปัจจัยเป็นอย่างนี้ ผมก็อยู่อย่างนี้ ผมไม่รู้ว่าผมจะเหมาะกับการเมืองแค่ไหน เพราะผมรักในวิชาการ มีความสุขที่ได้คิดทางวิชาการ ได้สอนหนังสือ
การทำบทวิเคราะห์คำพิพากษา ก็ไม่ได้ทำให้ผมได้อะไรจากการทำตรงนี้ ไม่ได้เอาไปขอปริมาณการทำงานหรือตำแหน่งทางวิชาการ เพราะนี่คือการทำเปล่า ทำด้วยใจรักเพื่อที่จะบอกกับสังคม ความจริงผมกับเพื่อนอีก 4 คนอาจจะไม่ทำเลยก็ได้ ก็รออยู่เหมือนกันว่าใครจะออกมาพูดเรื่องเนื้อหาไหม เมื่อไม่มี ผมคิดว่าจะปล่อยให้สังคมไปแบบนี้ไม่ได้
@คุณทักษิณ และ พรรคเพื่อไทย ได้ประโยชน์จากบทวิเคราะห์ 5 อาจารย์ เต็ม ๆ โดยไม่ต้องจ่ายสักบาท
(หัวเราะ) ก็ไม่เป็นไร มันเป็นเรื่องสาธารณะ
ถ้ามัวแต่คิดว่าใครจะได้ประโยชน์หรือไม่ได้ประโยชน์ หรือกลัวคนจะว่าว่ารับเงิน กลัวคนว่าว่าใกล้ชิดทักษิณ กลัวคนว่าอยากดัง กลัวคนว่าว่าร้อนวิชา ก็จะทำให้เราทำอะไรไม่ได้เลย คำถามคือเวลามองตัวเองในกระจกแล้วละอายตัวเองหรือเปล่า คุณซื่อสัตย์ต่อมโนธรรมของคุณไหม คุณได้อะไรไหม คุณเป็นอย่างที่เขากล่าวหาไหม ถ้าคุณไม่เป็นก็คือไม่เป็น ถ้าเราใสเหมือนกระจกก็คือใสเหมือนกระจก
เรื่องแบบนี้ อย่างที่บอกว่า อาจารย์ 5 คนเนี่ย ถ้ามีนอกมีใน มันไม่กล้าทำหรอก จะเอาเกียรติศักดิ์ศรีของตัวเองไปแลกทำไม แต่เพราะว่าเราไม่มีอะไรเลย เราถึงกล้า
ใช่ว่าจะมีอนาคตนะ 5 อาจารย์นี้(หัวเราะ) คุณวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ คุณวิจารณ์ศาลปกครองสูงสุด คุณวิจารณ์ศาลฎีกา คุณวิจารณ์ระดับ Top ของวงการนิติศาสตร์ไทย วงการกฎหมายไทย คุณจะเหลืออนาคตอะไร
@ อาจารย์ วรเจตน์ ห่วงอะไร
ตัวผมไม่ค่อยน่าห่วงเท่าไหร่ ผมก็อยู่ของผมไปอย่างนี้ แต่ผมห่วงอาจารย์รุ่นน้องผมถ้ากลับมาจากต่างประเทศ คือผมนับถือน้ำใจของเขานะ แต่นี่คือทางที่ผมและเพื่อนเลือกเดิน รู้แต่ว่าเรารักในวิชา เราอยากบอกความจริงแก่สังคม บางคนบอกว่าศาลพิพากษาไปแล้วไม่ทำให้จบเหรอ แต่ผมคิดว่าสังคมควรสว่างไสวในทางปัญญา ปัญญาจะไม่เกิดถ้าไม่มีความคิดต่าง ไม่มีการถกเถียงด้วยเหตุผล ผมหวังว่ากลุ่ม 5 อาจารย์จะเป็นพลังเล็กๆ ให้คนได้ฉุกคิด เรื่องไหนเราถูกไม่ถูกก็ว่ากันมาด้วยเหตุด้วยผล แต่เราไม่มี ไม่เคยรับผลประโยชน์ใดๆ จากใครทั้งสิ้น
@ อาจารย์ควรภูมิใจหรือเสียใจ ถ้าบทวิเคราะห์ 32 หน้าของอาจารย์ไปปรากฏในคำอุทธรณ์ของคุณทักษิณ เกือบหมดเลย
ไม่ใช่เรื่องของผม ไม่เป็นปัญหาของผมเลย นี่ผมบอกเลยนะครับ มีคนมาเล่าให้ผมฟังว่า มีการโพสต์ข้อความในอินเตอร์เน็ต ถามว่าทำไมไม่มาจ้างอาจารย์กลุ่มนี้ ...ไม่เกี่ยวอะไรกับผม ผมไม่ได้ยุ่งกับคดีนี้ตั้งแต่แรก ไม่เคยเกี่ยวข้อง เรื่องนี้ก็เหมือนกับเรื่องอื่นๆ ที่ผมทำให้กับสังคม
ความมุ่งหมายของผมมีอย่างเดียวคือ ผมต้องการให้สังคมเห็นอีกมุมหนึ่งซึ่งไม่มีการพูดกัน เอาความรู้มาเถียงกัน ผมไม่อยากให้สังคมถูกพัดพาไปโดยกระแสในด้านเดียว เท่านั้นเอง และผมคิดว่าความจริงคือความจริง ความรู้คือความรู้ ไม่อยากให้ใช้ความเชื่อ ไม่อยากให้ใช้อคติ พูดก็พูดเถอะ ธรรมชาติประทานสติปัญญาให้เรา ประทานสมองให้เรา เราต้องคิด ต้องใช้มันให้มาก อคติไม่ต้องใช้มากเพราะสังคมไทยใช้มาเยอะแล้ว ซึ่งที่ผมพูดมา หรือที่กลุ่มห้าอาจารย์พูด เราพูดในเชิงกฎหมาย เฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับคำพิพากษานี้ ไม่ได้สนับสนุนความชอบธรรมอะไรในทางการเมืองให้กับคุณทักษิณ เพราะคำพิพากษานี้เป็นเรื่องการขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ก็ต้องว่ากันตามเกณฑ์ทางกฎหมาย
เพราะเรื่องทางการเมือง ต้องประเมินอีกอย่างหนึ่ง มีเกณฑ์อีกแบบหนึ่งเป็นคนละเกณฑ์กัน แต่นี่เรากำลังจะเอา 2 เกณฑ์มาเป็นเรื่องเดียวกัน
ไม่ใช่เรื่องที่ผมภูมิใจหรือไม่ภูมิใจ และมีคนถามว่านี่ผมช่วยคุณทักษิณหรือ? แล้วผมเกี่ยวอะไรกับคุณทักษิณ ผมขอบอกว่า ถ้าจะดูช่วยไปดูที่เนื้อหา สังเกตไหมว่าแถลงการณ์เที่ยวนี้ เราพูดเรื่องรัฐประหารน้อยนะ ทั้งที่เป็นประเด็นใหญ่สุดเพราะเป็นต้นสายของทุกอย่างที่ตามมา หมายความว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นสืบทอดมาจากรัฐประหาร มันควรจะใช้ไม่ได้ แต่ที่พูดตรงนี้น้อย เพราะเราต้องการให้ดูเรื่องเนื้อหา เพราะมีการพูดกันว่าอย่าไปเถียงเรื่องรัฐประหารและเอาเป็นว่าถ้าเข้าสู่ระบบปกติมันผิดไหมอย่างไร ผมก็เลยบอกว่าคุณลืมเรื่องรัฐประหารไปเลยก็ได้ คุณเริ่มต้นอ่านจากเนื้อหาในบทวิเคราะห์ของกลุ่มห้าอาจารย์เลย ต่อให้ไม่คิดถึงเรื่องรัฐประหารด้วย ผมไม่อยากให้ทุกคนว่าประเด็นพวกนี้เป็นเรื่องเทคนิค พอเป็นเรื่องเทคนิคแล้วคิดว่ายุ่งยากซับซ้อนแล้วเชื่อๆ ตามๆ กันไป ผมไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น

@ ในระยะยาวรากหญ้าหรือสีแดง กับชนชั้นนำในสังคม ใครจะชนะ-แพ้
ในอีกหลายปีข้างหน้า ผมยังเชื่อว่ามีวิวัฒนาการทางธรรมชาติ คนตระหนักในสิทธิของตัวเองมากขึ้น รู้มากขึ้น ระยะยาวคนที่เป็นพลังส่วนใหญ่ของสังคม เขาจะชนะอยู่ดี มันเกิดขึ้นในทุกๆแห่ง มันจะดึงหรือหน่วงเอาไว้ ได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น แต่สุดท้ายสังคมก็วิวัฒนาการไปสู่จุดที่คนตระหนักในคุณค่าเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาคอยู่ดี เป็นเรื่องธรรมดา แต่ทำนายไม่ได้ว่ากี่ปี เพราะมันไปพันกับลักษณะเฉพาะของสังคมไทย มันจะยากสำหรับสังคมนี้ ที่จะเปลี่ยนอะไรบางอย่างแล้วแต่มันจะเปลี่ยนโดยธรรมชาติของมัน แต่ผมก็ยังเชื่อนะว่าอะไรที่เป็นความจริง มันก็ยังเป็นความจริงอยู่วันยังค่ำ ความจริงอาจจะถูกปิดบังในบางเวลา คนอาจจะเห็นความจริงไม่หมดในบางเวลาหรืออาจจะไม่อยากเห็นความจริงบางเรื่อง เห็นแล้วมันสะท้อนใจ กระแทกใจตัวเองหรือรับไม่ได้ มันไม่ตรงกับที่ตัวเองเชื่อที่ตัวเองคิด
@ ความจริงอาจจะมาช้าหน่อย
วันนี้เรื่องของคุณทักษิณ ก็มีคนที่เชื่อไปแล้วว่ามันเอื้อประโยชน์แน่ๆ มันทำอย่างนี้มันเอื้อแล้วแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยที่อาจจะไม่ได้แยกแยะเรื่องทางกฎหมายกับการเมืองออกจากกันให้ชัด อีกอย่างหนึ่งตอนนี้การวิเคราะห์ ในสังคมมันไม่สมบูรณ์เพราะเราไม่สามารถพูดได้ทุกเรื่อง ความจริงในสังคมประชาธิปไตยต้องวิเคราะห์อย่างสมบูรณ์แล้วก็จะเห็น บางคนถูกปิดตาไว้ข้างหนึ่งบางคนเต็มใจ ที่จะปิดตาไว้อีกข้างหนึ่งหรือบางทีปิดไว้ทั้ง 2 ข้าง เพราะเชื่อไปแล้ว พอเชื่อไปแล้วก็จบแล้ว คุณจะพูดอะไรก็ไม่ได้แล้ว เหมือนที่ใครบอกว่าผมเป็นกาลิเลโอหลงยุค แต่ผมไม่แคร์ เพราะผมรู้สึกว่าเขาไม่สามารถตอแยในเนื้อหาได้ต่างหากก็ออกไปทางนั้น ผมจะต้องไปสนใจอะไรกับเรื่องพวกนี้ อย่างที่ผมบอกถ้าผมสนใจกับเรื่องพวกนี้ ผมไม่ต้องทำอะไรแล้ววันๆ หนึ่ง แล้วผมจะสอนกฎหมายมหาชนยังไง ถ้ามีเรื่องที่ผิดหลักแล้ว ลูกศิษย์มาถามว่า ทำไมอาจารย์ไม่มีความเห็นอะไรเลย มันไม่ได้หรอก
@ อาจารย์วรเจตน์ ตั้งคำถาม ให้สังคมคิด แต่กระแสพัดแรงขนาดนี้ ใครจะฟัง
ก็จริง แต่ผมอยากให้ลองอ่านความเห็นของผู้พิพากษาข้างน้อยในคดีนี้ในประเด็นเรื่องเอื้อประโยชน์หรือไม่ ท่านผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยในคดีนี้เขียนข้อเท็จจริงหลายเรื่องไว้ละเอียด บางเรื่องผมก็ได้อ่านหลังจากออกบทวิเคราะห์ไปแล้ว เช่น การอ้างคำพยานผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของสัมปทานดาวเทียม แต่ประเด็นเรื่องหุ้นท่านผู้พิพากษาท่านนี้ก็ชี้นะว่าเป็นเรื่องที่คุณทักษิณถือเอง แต่ประเด็นเรื่องนี้เป็นประเด็นที่กลุ่มห้าอาจารย์ไม่ได้พูดไว้ในบทวิเคราะห์ มีคนคิดว่ากลุ่ม 5 อาจารย์เห็นด้วย แต่ผมมีความเห็นว่าเรื่องหุ้นนี่พูดยากนะ เพราะมันกระทบกับระบบการถือครองหุ้นทั้งระบบ คุณขายหุ้นให้ลูก ต่อมาลูกจะขายหุ้นต่อไป ลูกอายุ 22 มาปรึกษาคุณ คูณบอกขายหรือไม่ขาย แล้วจะแยกยังไง ว่าหุ้นเป็นของคุณ หรือเป็นของลูก ในทางรูปแบบหุ้นเป็นของลูก แต่ในทางเนื้อหาก็ชักไม่แน่ใจว่าใครถือครอง พอวินิจฉัยยาก ความไม่แน่นอนในทางนิติฐานะจะเกิดขึ้นทันทีในระบบกฎหมาย เพราะคุณออกทางไหนก็วิพากษ์วิจารณ์ได้ ผมจึงถามว่าคุณจะเอายังไง จะเขียนกฎหมายห้ามขายให้ญาติใกล้ชิดไหม คือห้ามคนในครอบครัวรัฐมนตรีถือครองหุ้นเลยไหม จะไหวไหม
@ ได้ข่าวว่า อาจารย์ วรเจตน์ เป็น กาลิเลโอหลงยุค เป็น องครักษ์พิทักษ์ปลวก ไปแล้ว
ก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ผมคิดว่าคนในวงการเขาก็รู้กันอยู่ว่าเป็นยังไง ก็เหมือนที่ผมถูกป้ายเป็นพวกทักษิณไง ซึ่งมันก็ช่วยไม่ได้ จะป้ายก็ป้ายไป


RED LETTER
RED LETTER

จำนวนข้อความ : 266
Join date : 24/09/2009

ขึ้นไปข้างบน Go down

**เปิดข้อมูลใหม่ "วรเจตน์ ภาคีรัตน์ " ความหวังสุดท้าย"ทักษิณ" หวังพลิกคดียึดทรัพย์.. Empty Re: **เปิดข้อมูลใหม่ "วรเจตน์ ภาคีรัตน์ " ความหวังสุดท้าย"ทักษิณ" หวังพลิกคดียึดทรัพย์..

ตั้งหัวข้อ by RED LETTER Wed Mar 31, 2010 4:44 am

วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2553 เวลา 09:00:01 น. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ไม่ใช่ นายแบบโฆษณาแอร์หน้าร้อน แต่เป็นนักวิชาการที่จุดไฟกลางพายุ เพื่อบอกกับสังคมว่า การทำลายทักษิณเพียงคนเดียว โดยการทุบทำลายหลักกฎหมายทั้งหมด อาจได้ไม่คุ้มเสีย แล้วต่อไปจะเอาอะไรไปสอนหนังสือนักศึกษา เพราะสิ่งที่อยู่ในตำรา กับ การใช้กฎหมาย วันนี้เป็นคนละเรื่อง !!!

คำพิพากษาศาลฎีกา คดียึดทรัพย์ ทักษิณ ศาลเขียนคำวินิจฉัยกลาง 187 หน้า ใช้เวลาอ่าน เมื่อวันที่ 26 ก.พ. นานกว่า 7 ชั่วโมง

ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และเพื่อนนักวิชาการ เสียงข้างน้อย เขียนบทวิเคราะห์(วิจารณ์) คำพิพากษาศาลฎีกา 32 หน้า ใช้เวลาเขียนนานกว่า 7 วัน

ประชาชาติธุรกิจ อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา 187 หน้า แล้วอ่านบทวิเคราะห์ของ ดร. วรเจตน์ อีก 32 หน้า
ก่อนไปสัมภาษณ์ ดร. วรเจตน์ บนชั้น 4 คณะนิติศาสตร์ สนทนากันตั้งแต่ 10 โมงเช้า ไปจนถึง 13.30 น.
ชั่วโมงนี้ อาจารย์ทั้ง 5 ถูกเหน็บแนมว่า องครักษ์พิทักษ์จอมปลวก หรือว่าที่จริงแล้ว พวกเขาเป็น นักวิชาการผู้กล้าหาญ... ผู้กล้าจุดไฟกลางพายุ

ล่าสุด สิ้นเดือนนี้ ทนายทักษิณ ต้องยื่นอุทธรณ์ คดียึดทรัพย์ อันเป็นการต่อสู้ เฮือกสุดท้ายของอดีตนายกฯ อะไรคือ อุทธรณ์ อะไรคือ ข้อมูลใหม่ และอะไร คือ ความบกพร่องทางวิชาการของสังคมไทย ....ต้องอ่านบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้

@อาจารย์จะภูมิใจหรือเสียใจ ถ้าบทวิเคราะห์ 32 หน้าของอาจารย์ไปปรากฏในคำอุทธรณ์ของคุณทักษิณ เกือบหมดเลย

ไม่ใช่เรื่องของผม ไม่เป็นปัญหาของผมเลย นี่ผมบอกเลยนะครับ มีคนมาเล่าให้ผมฟังว่า มีการโพสต์ข้อความในอินเตอร์เน็ต ถามว่าทำไมไม่มาจ้างอาจารย์กลุ่มนี้ ...ไม่เกี่ยวอะไรกับผม ผมไม่ได้ยุ่งกับคดีนี้ตั้งแต่แรก ไม่เคยเกี่ยวข้อง เรื่องนี้ก็เหมือนกับเรื่องอื่นๆ ที่ผมทำให้กับสังคม

ความมุ่งหมายของผมมีอย่างเดียวคือ ผมต้องการให้สังคมเห็นอีกมุมหนึ่งซึ่งไม่มีการพูดกัน เอาความรู้มาเถียงกัน ผมไม่อยากให้สังคมถูกพัดพาไปโดยกระแสในด้านเดียวเท่านั้นเอง และผมคิดว่าความจริงคือความจริง ความรู้คือความรู้ ไม่อยากให้ใช้ความเชื่อ ไม่อยากให้ใช้อคติ พูดก็พูดเถอะ ธรรมชาติประทานสติปัญญาให้เรา ประทานสมองให้เรา เราต้องคิด ต้องใช้มันให้มาก อคติไม่ต้องใช้มากเพราะสังคมไทยใช้มาเยอะแล้ว ซึ่งที่ผมพูดมา หรือที่กลุ่มห้าอาจารย์พูด เราพูดในเชิงกฎหมาย เฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับคำพิพากษานี้ ไม่ได้สนับสนุนความชอบธรรมอะไรในทางการเมืองให้กับคุณทักษิณ เพราะคำพิพากษานี้เป็นเรื่องการขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ก็ต้องว่ากันตามเกณฑ์ทางกฎหมาย

เพราะเรื่องทางการเมือง ต้องประเมินอีกอย่างหนึ่ง มีเกณฑ์อีกแบบหนึ่งเป็นคนละเกณฑ์กัน แต่นี่เรากำลังจะเอา 2 เกณฑ์มาเป็นเรื่องเดียวกัน
ไม่ใช่เรื่องที่ผมภูมิใจหรือไม่ภูมิใจ และมีคนถามว่านี่ผมช่วยคุณทักษิณหรือ? แล้วผมเกี่ยวอะไรกับคุณทักษิณ ผมขอบอกว่า ถ้าจะดูช่วยไปดูที่เนื้อหา สังเกตไหมว่าแถลงการณ์เที่ยวนี้ เราพูดเรื่องรัฐประหารน้อยนะ ทั้งที่เป็นประเด็นใหญ่สุดเพราะเป็นต้นสายของทุกอย่างที่ตามมา หมายความว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นสืบทอดมาจากรัฐประหาร มันควรจะใช้ไม่ได้ แต่ที่พูดตรงนี้น้อย เพราะเราต้องการให้ดูเรื่องเนื้อหา เพราะมีการพูดกันว่าอย่าไปเถียงเรื่องรัฐประหารและเอาเป็นว่าถ้าเข้าสู่ระบบ ปกติมันผิดไหมอย่างไร

ผมก็เลยบอกว่าคุณลืมเรื่องรัฐประหารไปเลยก็ได้ คุณเริ่มต้นอ่านจากเนื้อหาในบทวิเคราะห์ของกลุ่มห้าอาจารย์เลย ต่อให้ไม่คิดถึงเรื่องรัฐประหารด้วย ผมไม่อยากให้ทุกคนว่าประเด็นพวกนี้เป็นเรื่องเทคนิค พอเป็นเรื่องเทคนิคแล้วคิดว่ายุ่งยากซับซ้อนแล้วเชื่อๆ ตามๆ กันไป ผมไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น

@ในตอนที่ทักษิณ มีอำนาจก็อาจสั่งการโดยไม่ปรากฏหลักฐาน เป็นสิ่งที่อธิบายไม่ได้เพราะทุกอย่างถูกควบคุมโดยทักษิณ ที่วางคนของตัวเองเอาไว้หมด แล้วอาจารย์อาจจะมองไม่เห็นสิ่งที่ทักษิณ สั่งรัฐมนตรีให้ทำโครงการที่เอื้อประโยชน์ชินคอร์ป

ผมคิดว่าความคิดแบบนี้อันตราย ถ้าเราใช้ "ความเชื่อ" ลงโทษคน จะเกิดอะไรขึ้น เช่น เชื่อว่าคนขี้ยาฆ่าข่มขืนผู้หญิงคนหนึ่ง แต่ความจริงเขาอาจจะไม่ได้ทำ แต่คนเชื่อว่ามันฆ่าข่มขืนก็ให้ประหารชีวิตมันไป

ผมเชื่อในหลักการ และอยากจะบอกแบบนี้ว่า ภายใต้การต่อสู้ทางการเมืองที่มีกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองจำนวนมากเข้า ร่วมวงต่อสู้ กลุ่มผลประโยชน์ทุกกลุ่มต่างต้องการช่วงชิงชัยชนะให้กับตัวเอง การต่อสู้ก็มีวิธีการหลายวิธี เช่น การโฆษณาชวนเชื่อ การให้ข้อมูลด้านเดียว การให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ต่างๆ เหล่านี้ทำกันมา คนคนหนึ่งอาจจะทำ 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ผลของการโฆษณาชวนเชื่ออาจจะทำให้คนเชื่อว่าไอ้หมอนี่ทำ 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ความเชื่อนั้นใช้ไม่ได้ในทางกฎหมาย ถ้าคุณจะเชื่ออย่างไรนั้นก็ว่ากันทางการเมือง

ถ้าคุณอยากจะยึดทรัพย์คุณทักษิณ คุณรัฐประหารล้มเขาแล้ว คุณออกประกาศยึดไปเลย ส่วนในอนาคตถ้าเขาจะกลับมาจะนิรโทษกรรมอะไร ก็เป็นเรื่องในอนาคตข้างหน้า แต่ถ้าจะใช้กระบวนการทางกฎหมายก็ต้องมีเหตุผล

ผมกำลังจะบอกว่า เรากำลังเอา 2 เรื่อง มาปนกัน เพราะการรัฐประหาร มันเป็นเรื่องอำนาจ เป็นเรื่องปืน รถถัง มันเถื่อนเพราะมันไม่จำเป็นต้องให้เหตุผล แต่กระบวนการยุติธรรม กระบวนการตามกฎหมาย มันใช้เหตุผล มันมีหลัก ใช้ความเชื่อไม่ได้ ถ้าไม่อย่างงั้น ก็ไม่ต้องเรียนวิชานิติศาสตร์ ไม่อย่างงั้นผมก็ไปเรียนวิชายิงปืนสิ ผมจะมาเรียนกฎหมายทำไม และถ้าผมเชื่อว่าใครทำผิดผมก็ยิงมันเลย ถ้ามันชั่วนัก

ผมจะบอกว่าทั้ง 2 อย่างนี้ มันเหมือนน้ำกับน้ำมัน มันไปด้วยกันไม่ได้ และถ้าเอามาผสมกันมันจะสร้างความเสื่อมให้กับตัวระบบ ที่เราสร้างขึ้น
เพราะฉะนั้นถ้าคุณจะทำอะไร คุณก็ทำไปสิ ตั้งแต่ตอนที่คุณมีปืน ที่คุณคิดว่าทำด้วยความหวังดี ทั้งๆ ที่การรัฐประหารมันเป็นความเถื่อน แต่คุณคิดว่าต้องทำเพราะว่าไอ้ระบบธรรมดามันใช้ไม่ได้ คุณก็ให้เหตุผลไป ผมจะเชื่อหรือไม่เชื่อมันเป็นเรื่องของผม แต่เมื่อเข้าสู่กลไกทางกฎหมาย เกิดระบบรัฐธรรมนูญ คุณต้องทำตามหลัก จะเอาความเชื่อมาใช้ไม่ได้ แล้วคุณรู้ได้ยังไงว่าที่เราเชื่อนั้นเป็นความเชื่อที่ถูก นี่เราอยู่ในยุคของการพิสูจน์ยุคของเหตุผลนะครับ หรือว่าผมเข้าใจผิด ที่จริงแล้ว เราไม่ได้อยู่ในยุคของเหตุผล

@ประเด็นการอุทธรณ์คดียึดทรัพย์คุณทักษิณ มีแง่มุมมองทางวิชาการหรือไม่

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่หลายคนไม่เข้าใจและเป็นปัญหากลไกซ่อนรูปในรัฐธรรมนูญ และนักกฎหมายหลายคนก็มองไม่เห็น เราพูดเรื่องอุทธรณ์ ว่าพอศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินแล้ว มีสิทธิ์อุทธรณ์ภายใน 30 วัน ไปยังที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา หลายคนที่ร่างรัฐธรรมนูญ บางคนก็บอกว่านี่ไงมีการประกันสิทธิเสรีภาพ เรื่องการอุทธรณ์ กระบวนการนี้เป็นธรรมเพราะเปิดให้มีการอุทธรณ์ไปยังที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้

แต่เรื่องนี้คนรู้น้อยมากว่าจริงๆ แล้วมันใช่การอุทธรณ์หรือไม่ ไปถามในทางสากลจากนักกฎหมายในโลกนี้ทั้งโลก จะรู้ว่าที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ 2550 นี่มันไม่ใช่เรื่องการอุทธรณ์ แม้จะเขียนว่า "อุทธรณ์" ก็จริง แต่เนื้อหามันไม่ใช่ อันนี้มันซ่อนปมอีกอันหนึ่ง

เพราะสิ่งที่อยู่ในรัฐธรรมนูญนั้นเป็นลูกผสม ระหว่างการอุทธรณ์กับการขอให้พิจารณาใหม่ หรือการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ในทางกฎหมายแล้ว เรื่องทั้งสองเรื่องนี้มีหลักคิดที่ต่างกัน ยกตัวอย่างคดีอาญา มีบุคคลคนหนึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ต่อมาพนักงานสอบสวนก็สอบสวนมีการส่งเรื่องไปที่อัยการและอัยการฟ้องไปที่ศาล เมื่อมีการตัดสินคดีแล้วมีการอุทธรณ์ฎีกา เมื่อศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกายืนคดีถึงที่สุดที่ศาลฎีกา

ต่อมาเมื่อเขาอยู่ในคุก พบพยานหลักฐานว่าเขาไม่ใช่คนกระทำความผิด ระบบกฎหมายจะเปิดช่องให้เขา ขอให้พิจารณาใหม่ หรือว่ารื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ ซึ่งการอุทธรณ์กับการขอให้พิจารณาใหม่มีความแตกต่างกัน เพราะการอุทธรณ์ คือการที่คู่ความในคดี ซึ่งไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลในระดับล่าง โต้แย้งคำพิพากษาของศาลขึ้นไปยังศาลระดับสูง ซึ่งแน่นอนว่า สามารถอุทธรณ์ได้ในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย หรืออาจให้อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายอันนี้แล้วแต่ระบบกฎหมายจะวางกลไกไว้


แต่ที่สำคัญที่ต้องเน้นก็คือ การอุทธรณ์เป็นการเปิดโอกาสให้คู่ความได้โต้ แย้งตัวคำพิพากษาของศาล โดยไม่จำเป็นต้องมีพยานหลักฐานใหม่ คือพยานหลักฐานอาจเป็นของเดิมทั้งหมดเลยก็ได้ แต่อุทธรณ์หรือโต้แย้งว่าศาลล่างตีความกฎหมายไม่ถูก หรือถ้าเป็นการยอมให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ ก็โต้แย้งว่าการรับฟังข้อเท็จจริงมีความผิดพลาด นี่คือการโต้แย้งในประเด็นต่างๆ ที่เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้ว หรือโต้แย้งประเด็นข้อกฎหมายขึ้นไปให้ศาลในระดับสูงกว่าตรวจสอบคำพิพากษาของ ศาลล่างว่าถูกต้องหรือไม่ นี่เรียกว่าการอุทธรณ์

เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ก็ไม่สามารถอุทธรณ์ได้อีกแล้ว คดีอาจถึงที่สุดในศาลฎีกา หรือศาลอุทธรณ์หรือศาลชั้นต้น หากไม่มีการอุทธรณ์ ฎีกาขึ้นศาลสูงแล้วแต่กรณี เมื่อคดีมันจบ หลักก็คือ คำพิพากษาก็เสร็จเด็ดขาด ผูกพันคู่ความในคดี ทีนี้เป็นไปได้ว่าคำพิพากษาอาจผิดพลาด ซึ่งระบบกฎหมายที่ยอมรับหลักความยุติธรรม ต้องยอมรับว่ามันเกิดความผิดพลาดได้เวลาที่ศาลมีคำพิพากษา เพราะฉะนั้น ระบบกฎหมายอย่างนี้ แม้ด้านหนึ่งจะต้องรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงแน่นอนของคำพิพากษาของศาลซึ่งถึงที่สุดแล้ว แต่อีกด้านหนึ่งระบบกฎหมายก็ต้องรักษาความยุติธรรมด้วย

ที่นี้จะรักษาความยุติธรรมยังไงให้ได้ดุลกับความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะ คำตอบก็คือเขาก็จะเปิดช่องเอาไว้ว่าหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว มีการพบพยานหลักฐานใหม่ ว่าที่ศาลตัดสินไปนั้นไม่ถูก เขาก็จะเปิดโอกาสให้คนซึ่งต้องคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วนั้น ยื่นคำร้องรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ซึ่งการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่นี้ หลักในทางสากลคือ คดีอาจจบไปแล้ว กี่ปีก็ได้ แต่อาจจะจำกัดเวลาขั้นสูงไว้ว่าถึงอย่างไรก็ไม่เกิน 30 ปี หรือไม่เกินระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร เพียงแต่ว่าถ้าคุณมีพยานหลักฐานใหม่ คุณต้องยื่นเสียอาจจะภายใน 30 วัน เช่น คดีจบไปแล้ว 5 ปี แล้วคุณพบพยานหลักฐานอันนี้ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าคุณไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด คุณก็นำไปยื่น เพื่อรื้อฟื้นคดีที่จบไปแล้วนั้นให้ศาลมาพิจารณาใหม่ ตรรกะจะเป็นแบบนี้ จะเห็นได้ว่าหลักการอุทธรณ์คำพิพากษา กับหลักการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ตั้งอยู่บนฐานคิดที่แตกต่างกัน มีเหตุผลรองรับไม่เหมือนกัน

แต่รัฐธรรมนูญไทย 50 ได้สร้างระบบประหลาดขึ้นมาซึ่งผมไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งอาจจะนับว่าเป็นการสรรสร้างของคนร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ เขาบอกว่า คนที่ต้องคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สามารถอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ไปที่ที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาได้ภายใน 30 วัน แต่ต้องปรากฏพยานหลักฐานใหม่ เพราะฉะนั้น มันจึงไม่ใช่การอุทธรณ์ในความหมายแท้ๆ ที่ใช้ในทางกฎหมายและก็ไม่ใช่การขอให้พิจารณาใหม่ด้วย

ที่ผมบอกว่าไม่ใช่การอุทธรณ์ เพราะว่าคุณไปบีบเขาว่าเขาต้องมีพยานหลักฐานใหม่ภายใน 30 วันนี้ และคุณต้องมีพยานหลักฐานใหม่ มันก็เลยไม่ใช่เรื่องการอุทธรณ์ เพราะการอุทธรณ์ในทางระบบที่รับกันทั่วไปในสากลไม่ต้องมีพยานหลักฐานใหม่ ขณะเดียวกันมันก็ไม่ใช่การรื้อฟื้นพิจารณาคดีใหม่ด้วยเพราะคุณไปจำกัดเขาว่า เขาต้องทำภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ไม่ใช่ 30 วันนับแต่วันที่พบพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งอาจจะผ่านไป 5 ปี 10 ปี ก็ได้

@หลักการอุทธรณ์ จึงมั่วๆ กันอยู่ระหว่าง 2 หลัก?

ถูกต้อง มันมั่วสุดๆเลยเลยไม่ใช่มั่วๆ กันอยู่แต่มันไม่มีหลักอะไรเลยตรงนี้ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องประหลาดมากในทางระบบ อันนี้ต้องอธิบายให้สาธารณชนเข้าใจ เพราะที่พูดๆกันอยู่นี่ไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง นี่พูดจริงๆ หลายคนทำให้ผมรู้สึกว่ามีปัญหามากในทางความรู้ เพราะไม่เข้าใจประเด็นเหล่านี้แล้วพูดไป ไม่อธิบายให้สุด อธิบายทำให้รัฐธรรมนูญ ๕๐ นี่ดูดีเท่านั้น ทำให้สังคมเข้าใจผิด หลักก็เสียหมด

ประเด็นคือ ถ้าเอาตามตัวบทลายลักษณ์อักษรนี่ทนายความของคุณทักษิณ ต้องเจอหลักฐานใหม่ จึงจะสามารถอุทธรณ์ได้ เพราะฉะนั้นมันไม่เป็นธรรมกับคนที่ถูกลงโทษ ดังนั้นถ้าหากจะประกาศต่อโลกว่าระบบกฎหมายไทยยอมให้อุทธรณ์ได้ก็ต้องไม่กำหนดเงื่อนไขเรื่องพยานหลักฐานใหม่ เพราะจะเป็นไปได้ยังไงที่บังคับให้เขาต้องหาพยานหลักฐานใหม่ภายใน 30 วัน นับแต่ศาลมีคำพิพากษา ไม่ยังงั้นอย่าเที่ยวไปพูดกับใคร ๆ ว่ารัฐธรรมนูญ ๕๐ นี้เป็นธรรมแล้วเพราะยอมให้มีการอุทธรณ์ได้ ทั้งๆที่เอาเข้าจริงไม่ใช่เรื่องอุทธรณ์ แต่ทีนี้ครั้นจะสนับสนุนให้เขาอุทธรณ์เต็มที่ หรือแม้แต่อุทธรณ์เฉพาะในประเด็นข้อกฎหมาย คุณก็เกรงอีก เพราะศาลที่ตัดสินเป็นศาลฎีกาแล้ว ก็เลยเอาเป็นระบบมั่วๆ อย่างนี้มาในรัฐธรรมนูญมันเลยเป็นปัญหา อธิบายให้เป็นเหตุเป็นผลไม่ได้

@เป็นประเด็นขอให้พิจารณาในเนื้อหา?
เรื่องแรกที่ต้องฝ่าด่านคือว่า อีกไม่กี่วันข้างหน้าหากไปถึงที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ถ้ามีการอุทธรณ์ ศาลต้องดูว่ามีพยานหลักฐานใหม่หรือไม่ ตามถ้อยคำตามของตัวบท ซึ่งการเขียนรัฐธรรมนูญอย่างนี้ก็น่าเห็นใจคนที่เป็นผู้พิพากษาตุลาการในการ ตีความอยู่เหมือนกัน อันนี้จะไปโทษเขาไม่ได้ อันนี้เป็นปัญหาที่ต้นทางของรัฐธรรมนูญ ที่ออกแบบมาแบบนี้ คือออกแบบมาประหลาดแบบนี้ แต่ว่าเมื่อตัวบทเป็นอย่างนี้ ก็อยู่ที่ผู้พิพากษาแล้วว่าจะใช้ศิลปะการตีความยังไงให้รับกับหลักการและ ความเป็นธรรม อันนี้อยู่ที่การตีความคำว่าพยานหลักฐานใหม่แล้ว ว่าจะเข้าใจยังไง จะเข้าใจไปถึงพยานหลักฐานที่อ้างมาในชั้นต้นด้วย แต่ไม่ได้นำเข้าสู่การชั่งน้ำหนักในคำพิพากษาหรืออย่างน้อยไม่ปรากฏในคำ พิพากษาด้วยหรือไม่ อันนี้น่าสนใจ

(ตอนหน้า ดร. วรเจตน์ เจาะลึก ประเด็น 5 โครงการเอื้อประโยชน์ ชินคอร์ป ตรงไหน ? )



RED LETTER
RED LETTER

จำนวนข้อความ : 266
Join date : 24/09/2009

ขึ้นไปข้างบน Go down

ขึ้นไปข้างบน

- Similar topics

 
Permissions in this forum:
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ