การปฏิรูปการเมืองที่ลวงตา
หน้า 1 จาก 1
การปฏิรูปการเมืองที่ลวงตา
ขอนำบทความของ เพสซิมิสท์ จาก นสพ.ประชา ชาติธุรกิจ ที่ตรงกับสถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้มาเผยแพร่ต่อ เพื่อเป็นแนวคิดในอีกมุมหนึ่ง ก่อนตัดสินใจเชื่อหรือยอมรับกับสิ่งใดๆที่รัฐบาลนี้พยายามยัดเยียดให้กับ ประชาชน
ในขณะที่คนส่วนใหญ่คงจะติดตามข่าวการเดิน ขบวนและการเปิดโปงความทุจริตและการยึดทรัพย์ของ ดร.ทักษิณและพวก ผมขอมองต่างมุมว่า เหตุการณ์ดังกล่าวหักเหความสนใจของประชาชนจากการปฏิรูปการเมืองแบบลวงตาที่ กำลังเกิดขึ้น โดยที่รัฐบาลให้ความหวังกับคนส่วนใหญ่เอาไว้ว่า หากเชื่อฟังรัฐบาลและรัฐธรรมนูญผ่านประชามติก็จะได้มาซึ่งการเลือกตั้งโดย เร็วและจะนำมาซึ่งความมั่นใจทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว กลยุทธ์นี้แยบยลเพราะประชาชนส่วนใหญ่ห่วงเศรษฐกิจซึ่งเป็นสิ่งใกล้ตัว และกลัวเศรษฐกิจตกต่ำ ตรงนี้ คุณจาตุรนต์ ฉายแสง หัวหน้ากลุ่มไทยรักไทยโจมตีว่า จุดประสงค์และเจตนารมณ์ของการรัฐประหารที่อ้างว่าจะปฏิรูปการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยนั้น ปรากฏว่าไม่ได้ทำตามข้ออ้างเหล่านั้นเลย ความจริงแล้วเป็นการนำระบบเผด็จการมาบริหารประเทศอย่างเข้มข้นและเป็นระบบ ซึ่งพอเห็นรางๆ แล้ว เช่น ความพยายามผ่านกฎหมาย กอ.รมน.ที่จะกล่าวถึงต่อไปบางคนอาจค้านว่า คุณจาตุรนต์ยังไงก็ต้องมีข้อสรุปเช่นนี้ ดังนั้นจึงควรนำเอาข้อเท็จจริงของเรื่องที่สำคัญมาพิจารณาประกอบ ซึ่งผมได้ตัดข่าว 4 ชิ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งสะท้อนได้ว่าสิทธิเสรีภาพและความเป็นประชาธิปไตย ของคนไทยกำลังถูกครอบงำมากกว่าจะงอกเงย และการปฏิรูปการเมืองนั้นดูจะเป็นการสกัดกั้นการกลับมาของพรรคไทยรักไทยเป็น หลัก
1.การลงประชามติเพื่อรับรองร่างรัฐธรรมนูญ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ออกแถลงการณ์ว่า ขณะที่การลงประชามติเพื่อรับรองร่างรัฐธรรมนูญยังไม่เริ่มขึ้น กลับมีพฤติกรรมของกลุ่มผู้ยึดอำนาจที่จะทำให้ประชามติเพื่อรับรองร่างรัฐ ธรรมนูญไม่สามารถสะท้อนความเห็นของประชาชนได้อย่างสุจริตเสียแล้ว เพราะกลุ่มผู้ยึดอำนาจได้ใช้สื่อของรัฐ โดยเฉพาะสถานีวิทยุในสังกัดกองทัพและโทรทัศน์บางช่องโฆษณาชวนเชื่อด้วยความ อันเป็นเท็จเพื่อหลอกลวงประชาชนในการลงประชามติให้รับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ความอันเป็นเท็จสองประการที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนใคร่ขอชี้แจงความจริงแก่ พี่น้องประชาชนก็คือ
- สถานีวิทยุในสังกัดกองทัพได้ออกอากาศเพลงเชิญชวนให้ประชาชนออกเสียงรับรอง ร่างรัฐธรรมนูญว่าเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา แท้จริงแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงระมัดระวังมิได้แสดงพระราชมติในเรื่องการ รับรองรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ฉะนั้นไม่ว่าพี่น้องประชาชนจะออกเสียงในการลงประชามติไปในทางหนึ่งทางใด ก็ไม่ได้กระทบต่อพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น การกล่าวความอันเป็นเท็จเช่นนี้คือการนำเอาสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามา พัวพันทางการเมืองอย่างเปิดเผย หากประชาชนเกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นพระราชประสงค์จริง ย่อมนำความเสื่อมเสียมาแก่สถาบันพระมหากษัตริย์และวิถีทางของประชาธิปไตย อย่างมาก
- โฆษกโทรทัศน์บางช่องและผู้มีบทบาทในสภาร่างรัฐธรรมนูญก็ตาม สภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ตาม มักกล่าวเสมอว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้รับการรับรองในการลงประชามติจะทำให้ไม่มีการเลือก ตั้ง แท้จริงแล้วรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 ได้กำหนดชัดเจนว่า หากประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ คมช.มีหน้าที่เลือกรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาแก้ไขปรับปรุง แล้วประกาศใช้ภายใน 30 วัน หลังวันลงประชามติ
- รัฐธรรมนูญที่เคยใช้มาทั้งหมด (ไม่นับรัฐธรรมนูญและธรรมนูญของคณะรัฐประหารชุดต่างๆ) ล้วนย่อมมีฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้งทั้งสิ้น ฉะนั้นไม่ว่า คมช.จะหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดมาใช้ ก็ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จริงอยู่ คมช.อาจเลือกรัฐธรรมนูญฉบับที่ล้าหลังกว่าร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 หรืออาจแก้รัฐธรรมนูญบางฉบับให้ตรงตามความต้องการอันไม่ชอบธรรมของตน และอาจมีบทเฉพาะกาลที่ผัดผ่อนการเลือกตั้งออกไปให้เนิ่นนาน แต่ไม่ควรลืมด้วยว่า คมช.ไม่อาจเลือกและแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ในสุญญากาศ หากต้องกระทำท่ามกลางกระแสสังคมที่ตื่นตัวขึ้นมาตัดสินใจเกี่ยวกับรัฐ ธรรมนูญของตนแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะกดดันโดยสงบให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับซึ่งตน พอใจที่สุด
- พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ โดยการลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจะทำให้สังคมไทยมีอำนาจต่อรองในการ กำหนดเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมากกว่า คมช. เพราะพลังในการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญโดยผ่านการลงประชามติ ย่อมทำให้ คมช.ต้องฟังเสียงประชาชนมากขึ้น และแน่นอนว่า สังคมย่อมมีพลังต่อรองมากกว่าการยอมรับรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นโดยคนซึ่งคณะ รัฐประหารไว้วางใจแต่งตั้งขึ้นเอง
- ทั้งนี้มีผู้อ่านคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนลืมไปอีกเรื่องหนึ่ง การลงประชามติภายใต้เงื่อนไขซึ่งบางพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึก ทำให้ทหารสามารถควบคุมได้ทุกคนโดยไม่มีความผิด อำนาจศาลไม่สามารถไปลงโทษได้ เพราะกฎอัยการศึกได้ให้อำนาจทหารในการควบคุมทุกอย่าง
2.พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราช อาณาจักร
ร่าง พ.ร.บ.นี้มีข้อสังเกตว่า ครม.อนุมัติโดยง่ายดาย ทั้งๆ ที่อ้างการปฏิรูปทางการเมือง การคืนประชาธิปไตยให้กับประชาชนและหลักนิติธรรม ซึ่งร่างกฎหมายนี้ขัดต่อเจตนารมณ์และหลักการของแนวนโยบายดังกล่าวอย่างยิ่ง ทีมข่าวการเมืองของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจสรุปว่า “หากเปรียบเทียบ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2546 โดยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณเป็นการดึงอำนาจจากมือกองทัพมาอยู่กับฝ่ายบริหารอย่างเบ็ดเสร็จ แล้วล่ะก็ ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯฉบับนี้ก็กำลังกระชากอำนาจจากมือฝ่ายบริหาร ซึ่งในภาวะปกติย่อมมาจากผู้แทนของปวงชนชาวไทย กลับไปอยู่ในมือของ ผบ.ทบ.” แปลว่าอำนาจของผู้แทนประชาชนจะถูกลดทอนลง ในขณะที่อำนาจของทหาร (ที่จะปราบปรามประชาชน) เพิ่มขึ้น จึงยากที่เข้าใจว่าตรงนี้เป็นการปฏิรูปทางการเมืองและคืนอำนาจให้กับประชาชน ได้อย่างไร
ร่างกฎหมายนี้ให้อำนาจหน้าที่นายกรัฐมนตรี กำกับอยู่ในระดับนโยบายอย่างหลวมๆ ในฐานะประธานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายใน แต่จะมีคณะกรรมการรักษาความมั่นคงทั้งในระดับภาค ระดับจังหวัดและสำหรับ กทม.เป็นเครือข่ายที่ทหารจะมีอำนาจประกบและควบคุมอย่างครบถ้วน โดยจะมีกองอำนวยการรักษาความสงบภายใน (กอ.รมน.) ทั้งในระดับจังหวัดและใน กทม.ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ กอ.รมน.ภาค ซึ่งแม่ทัพภาคเป็นประธานและปฏิบัติการตามที่ ผอ.กอ.รมน.สั่งการและมอบหมาย
กอ.รมน.มีอำนาจมากมายที่จะลิดรอนสิทธิ เสรีภาพของประชาชนดังที่มีการรายงานมาแล้ว เช่น การประกาศเคอร์ฟิว การปิดกั้นถนน การอายัดทรัพย์สิน (เช่นเครื่องมือในการใช้เดินขบวน) การจับกุมตัว การตรวจค้นบุคคล ยานพาหนะ เคหสถาน ฯลฯ ทั้งนี้ “เมื่อปรากฏว่ามีการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร” ให้ กอ.รมน.ใช้อำนาจเต็มในการสั่งหน่วยงานต่างๆ ของรัฐให้ “ป้องกันแก้ไข ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง การกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคง” โดยไม่เขียนให้ชัดเจนว่า จะตีความว่าอะไรคือ “ภัย” และใครเป็นคนตีความ แต่ดูเสมือนว่าเจตนารมณ์คือให้เป็นอำนาจของ ผอ.กอ.รมน. เพราะมาตรา 29 ให้รายงานต่อ ครม.ก็ต่อเมื่อ “ภัยต่อความมั่นคง…มีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มมากยิ่งขึ้นหรือ…เป็นภัย…จาก การก่อการร้ายที่มีความรุนแรงหรือการก่อการร้ายสากล”
สำหรับหลักนิติธรรมที่รัฐบาลเน้นอยู่เสมอ นั้นก็ดูเหมือนจะไม่ได้คำนึงถึงมากนัก ในเมื่อมาตรา 37 คุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐ “ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญาหรือทางวินัย” และยังไม่สามารถถูกฟ้องร้องกับศาลปกครองอีกด้วย (มาตรา 36)
ข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องนี้คือจะต้องกลับไป ย้อนถามท่านผู้อ่านว่า ท่านคิดว่าร่างกฎหมายเช่นนี้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะนำเสนอให้ ครม.อนุมัติและผลักดันให้เป็นกฎหมายหรือไม่
3.การปฏิรูปทางการเมืองแบบ คมช.
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเช่นกันหนังสือพิมพ์ รายงานว่าประธาน คมช.ได้ไปกล่าวสุนทรพจน์ โดยในตอนหนึ่งประธาน คมช.ระบุว่า “ปัญหาของบ้านเมืองในขณะนี้มันเดินไปถึงจุดใกล้สำเร็จแล้ว ขั้นตอนที่ได้วางไว้ในการปฏิรูปคราวนี้จนถึงวันสุดท้ายจะต้องเป็นไปตามขั้น ตอน 1.คือการยุบพรรคจะต้องเกิดขึ้น เพราะว่าคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องผมรู้จักทุกคน มันคือความผิดตามกฎหมายเห็นๆ 2.คดีที่ผิดทางอาญาเรื่องการโกงกินคอร์รัปชั่นจะปรากฏ 3.พรรคจะเริ่มแตกและเริ่มวิ่งกระจัดกระจาย และในที่สุดก็คือการสิ้นสุด นั่นหมายถึงว่าคดีจะปรากฏ 4.จากนั้นจะนำมาสู่การลงประชามติและการเลือกตั้ง
ซึ่งการเลือกตั้งคราวหน้าตนก็บอกแล้วว่า ต้องเป็นพรรคที่ทุกคนอยู่ในฝ่ายบริหารจะต้องรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ หมายถึงรักประเทศไทย รักสถาบัน ทุกอย่างในขณะนี้เดินไปตามขั้นตอนที่เราวางไว้”
พล.อ.สนธิกล่าวต่อว่า พรรคที่จะได้รับการเลือกตั้งในครั้งหน้า ทุกคนจะเห็นว่ามีพรรคใหญ่อยู่ 2-3 พรรคที่จะได้เป็นผู้บริหารประเทศ นั่นหมายความว่าพรรคที่อยู่ฝ่ายตรงกันข้ามกับพรรคการเมืองเหล่านี้ (คือไทยรักไทย) ตายลูกเดียว น่าสนใจว่าเนื้อหานั้นดูเสมือนว่า คมช.มี master plan เอาไว้แล้ว และมีการขีดเส้นให้เดินแล้ว จึงรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลัง ซึ่งแตกต่างจากการตอกย้ำของรัฐบาลว่ากระบวนการต่างๆ เป็นกระบวนการให้ความเป็นธรรมและที่เป็นอิสระจาก คมช. นอกจากนั้นจะเห็นว่าแม้ประชาชนจะยังไม่ได้ลงประชามติและยังไม่ได้ไปลงคะแนน เลือกตั้ง แต่ประธาน คมช.ทราบแล้วว่าเราจะมีรัฐบาลผสมที่ไม่รวมพรรคไทยรักไทยอย่างแน่นอน
4.การปลด ดร.วุฒิพงษ์ออกจากทีโอที
สัปดาห์ที่แล้วหนังสือพิมพ์ลงข่าวการปลด ดร.วุฒิพงษ์จากตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ทีโอที ในการประชุมวาระลับและให้เหตุผลว่า เพราะ ดร.วุฒิพงษ์มีแนวคิดไม่สอดคล้องกับบอร์ดและพาดพิงถึง รมว.ไอซีที แต่ ดร.วุฒิพงษ์โต้ว่า เพราะเขาคัดค้านการที่ทีโอทีอนุมัติงบฯลับเกี่ยวกับความมั่นคงให้กับทหาร มูลค่า 800 ล้านบาท โดย ดร.วุฒิพงษ์ตั้งข้อสงสัยเอาไว้หลายข้อ เรื่องนี้ทำให้อดเป็นห่วงไม่ได้ว่าในอนาคตรัฐวิสาหกิจต่างๆ จะมีภาระที่จะต้องสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของกองทัพอีกมากน้อยเพียงใด หากกองทัพจะยังมีบทบาทและอำนาจมากขึ้นในอนาคต
สุดท้ายนี้หากใครไปติดตามขอดูข้อมูลงบ ประมาณ ก็จะพบว่างบประมาณของกระทรวงกลาโหมในปี 2006 (ซึ่งรัฐบาลทักษิณเป็นผู้จัดทำ) นั้นเท่ากับ 85,936 ล้านบาท แต่รัฐบาลสุรยุทธ์เพิ่มให้เป็น 115,000 ล้านบาท ในปี 2007 และเพิ่มให้อีกเป็น 143,000 ล้านบาท ในปี 2008 รวมทั้งสิ้นเพิ่มขึ้น 66% ภายใน 2 ปี ในขณะที่งบประมาณโดยรวมเพิ่มขึ้น 22% ในช่วงเวลาเดียวกัน
หน้า 1 จาก 1
Permissions in this forum:
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ