RedCyberClub Forum
Would you like to react to this message? Create an account in a few clicks or log in to continue.

แกะรอยการทุจริตยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ 100 ชัก 30!?

Go down

แกะรอยการทุจริตยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ 100 ชัก 30!? Empty แกะรอยการทุจริตยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ 100 ชัก 30!?

ตั้งหัวข้อ by RED LETTER Mon Apr 12, 2010 11:07 pm

ที่มา โดย ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์ 16 กรกฎาคม 2552 08:33 น

* แม้ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
* แต่การหาผลประโยชน์จากเงินหลวงยังคงดำรงอยู่ทุกยุคทุกสมัย
* เพราะเป็นวิธีเดียวที่กินง่ายผ่องถ่ายคล่อง
* เผยสารพัดโปรเจกยักษ์ที่ถูกจับตามากสุด
* ส่วนมือโกยก็ยังเป็นคนกลุ่มเดิมในสูตร 100 ชัก 30
* ชี้รัฐบาลอภิสิทธิ์จะโปร่งใสหรือโคตรคอร์รัปชั่น?....

ไม่รู้โชคดีหรือโชคร้ายสำหรับรัฐบาลที่นำโดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลาที่เศรษฐกิจโลกวิกฤตอย่างหนัก ขณะเดียวกันภาวะเงินคงคลังของประเทศก็อยู่ในสภาวะถังแตกตั้งแต่รัฐบาลก่อน รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศจึงต้องกู้ กู้ และกู้ เพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจไทยอย่างเร่งด่วน ในช่วงแรกที่เข้าบริหารงาน รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ใช้งบกลางในส่วนของงบประมาณประจำปี 2552 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะแรกทันทีที่เข้าเป็นรัฐบาล แต่ก็ยังไม่ได้ผลมากนัก

ต่อมาจึงได้จัดทำแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสอง ในโครงการไทยเข้มแข็งระยะเวลา 3 ปี และถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่โครงการนี้จะมีการนำเงินมาใช้จาก 2 ส่วนคือ งบประมาณประจำปี 2553-2555 และงบประมาณที่นำมาจากการกู้โดย พ.ร.ก.และพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 8 แสนล้านบาท

ทันทีที่มีแผนงานคร่าวๆออกมา ไม่แปลกใจเลยว่าหลายฝ่ายได้ตั้งข้อสังเกตว่า งบก้อนใหญ่มีมูลค่ามหาศาลนี้ ได้ถูกแบ่งสันปันส่วนให้กับพรรคร่วมรัฐบาลไปเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะในโครงการไทยเข้มแข็งหรือ sp2 ที่ทำให้หลายฝ่ายต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่าวิธีการบริหารงบประมาณจะมีการรั่วไหลหรือไม่ มีการคอร์รัปชั่นรูปแบบไหน และผลประโยชน์จะไปตกอยู่กับใครกันแน่?

แบ่งเค้กก้อนแรกปชป.กินรวบ

สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ได้ตั้งงบกลางมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจยกแรก 1.167 แสนล้านบาทในงบประมาณปี 2552 ซึ่งงบก้อนนี้อยู่ในการบริหารจัดการของพรรคประชาธิปัตย์เป็นส่วนใหญ่ คือ 7.4 หมื่นล้านบาท และเกือบทุกโครงการเป็นโครงการที่ล้วนแต่ได้ชื่อว่าประชานิยม ได้แก่

โครงการช่วยเหลือบุคลากรภาครัฐที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน โดยช่วยเหลือค่าครองชีพคนละ 2,000 บาท ใช้งบ 2,652 ล้านบาท (งบกลาง),โครงการค่าใช้จ่ายเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงานเพื่อสร้างมูลค่าเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน 6,900 ล้านบาท (งบกลาง),โครงการเช็คช่วยชาติ 2,000 บาทต่อผู้ประกันตน จำนวน 8,138,815 คน,โครงการ 5 มาตรการ 6 เดือนเพื่อลดค่าครองชีพประชาชน ซึ่งรัฐบาลจะต้องจ่ายงบประมาณให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ รวม 11,409 ล้านบาท,โครงการเรียนฟรี 15 ปี ใช้งบประมาณ 2.46 หมื่นล้านบาท,โครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน 15,200 ล้านบาท,โครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยให้กับข้าราชการตำรวจชั้นประทวน 1,808 ล้านบาท,โครงการปรับปรุงสถานีอนามัย 1,095 ล้านบาท

ส่วนภูมิใจไทยในงบกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งแรกนั้น กระทรวงที่ภูมิใจไทยดูแล ได้แก่กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย ได้รับงบประมาณไปกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท โดยโครงการสำคัญๆ ได้แก่โครงการจัดสร้างทางในหมู่บ้านของกรมทางหลวงชนบท 490 กิโลเมตร ได้งบ 1,500 ล้านบาท ในกระทรวงมหาดไทยได้รับงบ 12,552 ล้านบาท เป็นโครงการสร้างหลักประกันรายได้ 9,000 ล้านบาท เบี้ยผู้สูงอายุคนละ 500 บาท นอกจากนี้ยังมีโครงการสนับสนุนการจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 15 ปี ได้รับงบ 552ล้านบาทให้กับโรงเรียนในกำกับของอปท. 1,036 แห่ง โครงการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)และประชาชนในท้องถิ่น 3,000 ล้านบาท กรมการค้าภายในได้รับจัดสรร 1,000 ล้านบาททำกิจกรรมธงฟ้า ขณะที่พัทยาได้เงินจัดสรรค 4.3 ล้านบาทในโครงการเรียนฟรี 15 ปี

ด้านชาติไทยพัฒนาเป็นพรรคที่ได้แบ่งเค้กมากเป็นอันดับ 3 โดยได้จัดสรรงบก้อนแรกประมาณ 2.1 พันล้านบาท เป็นโครงการสนับสนุนและพัฒนาด้านการท่องเที่ยว และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเกษตรกรที่ได้รับจัดสรรงบ 1,933 ล้านบาท

ขณะที่พรรคเพื่อแผ่นดินได้รับจัดสรรงบก้อนแรกไป 500 ล้านบาท ได้แก่โครงการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม 183 ล้านบาท,โครงการร่วมลงทุนอาหารฮาลาล 128 ล้านบาท การนิคมอุตสาหกรรม 14 ล้านบาท และกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 172 ล้านบาท เป็นต้น

นี่เป็นเพียงแค่ยกแรก!

ชำแหละ sp2
เค้กก้อนนี้ใครได้ประโยชน์

มาถึงแผนงานที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในช่วงที่ผ่านมา คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งที่ 2 ผ่านโครงการไทยเข้มแข็ง 1.43 ล้านล้านบาท หรือที่เรียกว่า sp 2

ว่ากันว่างานนี้เค้กจัดสรรงบประมาณสูงที่สุดกว่า 5.7 แสนล้านบาทในระยะเวลา 3 ปีเป็นของ ภูมิใจไทยภายใต้การนำของเนวิน ชิดชอบ ซึ่งคิดเป็น 40% ของเงินกู้ทั้งหมด ส่วนชาติไทยพัฒนาที่ดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ได้รับจัดสรรงบประมาณรวมถึง 2.3 แสนล้านบาท เพื่อใช้สำหรับโครงการก่อสร้างระบบชลประทานขนาดเล็ก และการประกันพืชผลทางการเกษตร ซึ่งยังไม่รวมถึงงบการท่องเที่ยวมหาศาลที่มีเจ้ากระทรวงคือ ชุมพล ศิลปอาชา และเจ้ากระทรวงเงาชื่อ วีระศักดิ์ โค้วสุรัตน์ เด็กในสังกัด บรรหาร ศิลปอาชา ที่เพิ่งถูกประท้วงจากสหภาพการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เหตุล้วงลูกงบประมาณไปหมาดๆด้วย ขณะที่รวมใจไทยชาติพัฒนาได้งบกระทรวงพลังงาน แบ่งเค้กก้อนนี้ไปด้วย 2 แสนล้านบาท

โครงการไทยเข้มแข็งนี้มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (2533-2555)โดยจะใช้งบมาจาก 3 ส่วนได้แก่ งบประมาณปี 2553 จำนวน 613,855 ล้านบาท เงินกู้จากพ.ร.ก.และพ.ร.บ. 8แสนล้านจำนวน 692,244 ล้านบาท และรายได้อื่นๆ 260,768 ล้านบาท อีกทั้งในปี 2554-2555 จะมีการใช้งบประมาณประจำปี 2554 และ 2555 มารวมด้วย จึงทำให้งบก้อนนี้เป็นงบก้อนใหญ่มหึมาและผูกพันเป็นระยะเวลาถึง 3 ปี

แผนงานโครงการไทยเข้มแข็งนี้มีทั้งหมด 13 หมวด ได้แก่ สาขาทรัพยากรน้ำและการเกษตร,สาขาขนส่ง/โลจิสติกส์,สาขาพลังงาน,สาขาการสื่อสาร,สาขาโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว,สาขาพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุข,สาขาการศึกษา,สาขาสวัสดิภาพของประชาชน,สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี,สาขาสิ่งแวดล้อม,สาขาพัฒนาการท่องเที่ยว,สาขาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ และสาขาการลงทุนในระดับชุมชน โดยเงินลงทุนที่ต้องการในปี 2552-2553 มีจำนวน 235,720 ล้านบาท และวงเงินลงทุนที่ต้องการในปี 2554-2555 มีจำนวน 685,796 ล้านบาท รวมเบ็ดเสร็จแล้วเป็นจำนวนมากถึง 921,516 ล้านบาท โดยรัฐบาลประกาศว่าจะนำไปใช้ในโครงการขนาดเล็กได้มากถึง 6,000 โครงการ

ในส่วนของภูมิใจไทย โครงการที่น่าจับตาที่สุดอยู่ที่โครงการขนส่งทางถนน ซึ่งกรมทางหลวงจะได้รับวงเงินงบประมาณใน 10 โครงการ (ปี 2552-2555) วงเงินรวม 98,054 ล้านบาท ที่น่าสนใจคือโครงการเร่งรัดขยายทางสายประธานเป็น 4 ช่องจราจรระยะที่ 2 ที่มีวงเงิน 11,465 ล้านบาท ขณะที่งานบำรุงรักษาทางหลวงอยู่ที่ 44,865 ล้านบาท และงานอำนวยความปลอดภัยอยู่ที่ 12,870 ล้านบาท ส่วนกรมทางหลวงชนบทนั้น มีโครงการทั้งสิ้น 4 โครงการ จะต้องใช้งบประมาณผูกพันทั้งสิ้น 41,707 ล้านบาท โดยโครงการถนนไร้ฝุ่น ใช้งบประมาณมากที่สุดคือ 34,341.485 ล้านบาท นอกจากนี้ก็มีการก่อสร้างถนนสาย A17 ลาดกระบัง 3,436 ล้านบาท ถนนสายต่อเชื่อมถนนราชพฤกษ์-กาญจนาภิเษก 2,070 ล้านบาท และสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนนนทบุรี 1,860 ล้านบาท รวมสาขาขนส่งทางถนนทั้งหมดต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น 139,761.525 ล้านบาท

นอกจากนี้ตามแผนในปี 2553-2555 ยังมีโครงการระบบรถไฟฟ้ารวม 135,314 ล้านบาท โครงการระบบราง17,190 ล้านบาท โครงการขนส่งทางอากาศ 1,119 ล้านบาท ประกอบอยู่ในแผนงานโครงการเข้มแข็งของกระทรวงคมนาคมด้วย

ส่วนชาติไทยพัฒนา ถูกจับตามองว่าโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทั้งหมดมีผลประโยชน์เอื้อต่อนักการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติให้กับพรรคชาติไทยพัฒนามากสุด เพราะดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยตามแผนงานกระทรวงเกษตรฯ จะได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 192,148.258 ล้านบาท เงินก้อนใหญ่ในส่วนนี้ไปอยู่ที่กรมชลประทานในโครงการจัดหาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 78,432 ล้านบาท

พรรคกิจสังคม นำโดยสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับแบ่งงบก้อนนี้ไปด้วยงบประมาณ 21,339.686 ล้านบาท เป็นงบในกรมทรัพยากรน้ำ 18,330.650 ล้านบาท ซึ่งเทงบก้อนใหญ่ไปที่โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำมากถึง 12,155.650 ล้านบาท ตามด้วยงบที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ 3,009.036 ล้านบาท

กระทรวงพลังงาน นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล คู่เขยสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ได้รับจัดสรรในส่วนของกระทรวงพลังงาน 79,944 ล้านบาทด้วย

ด้านพรรคประชาธิปัตย์เอง งบ sp2 นี้ตามแผนทั้ง 5 ปี โดยรวมจะอยู่ที่มากที่กระทรวงศึกษาธิการ 130,578 ล้านบาท และกระทรวงสาธารณสุขที่จะมีการพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุข โดยกระทรวงสาธารณสุขได้งบ 83,374ล้านบาท และหน่วยงานอื่นๆ รวม 116,481 ล้านบาท

ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมงบที่กระจายไปให้กระทรวงหรือหน่วยงานอื่นๆ ยิบย่อยอีกไม่น้อย!

รูปแบบการทุจริตยุค
'ทักษิณ-อภิสิทธิ์'

อย่างไรก็ดี โครงการเหล่านี้ถูกมองจากหลายฝ่ายว่าเป็นโครงการก่อสร้าง โครงการประมูล และโครงการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งแม้พรรคประชาธิปัตย์โดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ และไม่มีภาพการทุจริต แต่โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 นี้ กลับเป็นโครงการที่ค่อนข้างน่าผิดหวัง เพราะหลายโครงการอาจนำไปสู่การทุจริตในแวงวงการเมืองในรูปแบบเดิมๆ

รศ.ดร. ต่อตระกูล ยมนาค นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ อดีตประธานอนุกรรมการตรวจสอบการทุจริตการซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด CTX 9000 ของคตส.(คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ) เปิดเผยว่าการทุจริตจะเกิดขึ้นได้มากน้อยขึ้นอยู่กับอำนาจการตรวจสอบ

โดยในยุครัฐบาลทักษิณ อำนาจการตรวจสอบอ่อนแอมาก ไม่ว่าภาคประชาชนจะจับการทุจริตอะไรได้ เมื่อเรื่องส่งถึงตำรวจ หรืออัยการ เรื่องก็มักจะเงียบไปในที่สุด ทำให้ในยุคทักษิณนั้นมีการคอร์รัปชั่นมากที่สุดในทุกรัฐบาลที่ผ่านมา โดยจะแบ่งเป็นการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายซึ่งวัดผลประโยชน์เป็นเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ แต่จะได้เงินเป็นก้อนใหญ่ หรือเป็นเท่าตัว เช่น การออกกฎหมายเอื้อประโยชน์กลุ่มทุน การเปลี่ยนแปลงกฎหมายโทรคมนาคม หรือนโยบายขายรัฐวิสาหกิจที่แม้จะถูกระเบียบแต่ผู้ถือหุ้นที่เป็นฝ่ายการเมืองได้ประโยชน์ไปตลอดชีพเป็นต้น อีกส่วนเป็นงบก่อสร้าง ซึ่งจะมีการชักผลประโยชน์ได้จากผู้รับเหมา 20-30 %

"งบก่อสร้างในยุคทักษิณมีปีละประมาณ 3-6 แสนล้าน รวมแล้วประมาณ 2 ล้านล้านบาท คูณ 30% คือประมาณ 6 แสนล้านบาทที่หายไป"

ส่วนในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ มีข้อแตกต่างจากรัฐบาลทักษิณมาก เพราะไม่มั่นคงจึงไม่สามารถคอร์รัปชั่นอย่างสบายใจได้ แถมอำนาจการตรวจสอบยังเข้มแข็งกว่าเดิม ตรงนี้จะทำให้มีการคอร์รัปชั่นได้ยากขึ้น

ก่อสร้างยุค 'อภิสิทธิ์'
100 ชัก 30?

อย่างไรก็ดี เมื่อดูงบประมาณที่มาใช้ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่เป็นงบก่อสร้างจำนวนมาก เชื่อว่าในงบขนาดใหญ่ อย่างเมกะโปรเจคต่างๆ ถูกจับตามองจากสื่ออย่างใกล้ชิด ก็น่าจะผ่านครม.ได้ยาก เพราะมีผู้ตรวจสอบจำนวนมาก แต่ปกติแล้ว การก่อสร้างต่างๆ ผู้รับเหมาจะให้นักการเมืองปกติประมาณ 5-10% แต่ก็สามารถชักได้มากถึง 20-30% ส่วนโครงการก่อสร้างขนาดเล็กในพื้นที่ต่างๆ ที่ผ่านมามีการประชุมสัมมนาเรื่องนี้หลายครั้ง และพบว่า การทุจริตในพื้นที่นั้น สามารถทุจริตได้มากถึง 50-100% ในบางโครงการ เช่นโครงการขุดลอกคลอง มีการตั้งงบ 5 แสน-1 ล้านบาท แต่พบว่ามีบางพื้นที่ไม่มีการขุดลอกคลองจริง และนักการเมืองท้องถิ่นได้เงินก้อนนี้ไปถึง 100% ซึ่งน่าเป็นห่วงมากโดยเฉพาะงบที่ไปสู่การบริหารส่วนท้องถิ่นที่จะมีมูลค่าถึง 25% ของงบประมาณทั้งหมด และมีข่าวว่ามีการทุจริตตั้งโครงการตั้งแต่ในกระทรวงมหาดไทยด้วยความแตกต่างอันนี้ทำให้ทุกภาคส่วน ต่างขยับตัวเพื่อตรวจสอบอย่างใกล้ชิด

แหล่งข่าวในแวดวงการเมืองกล่าวว่า 'เราเชื่อมั่นในตัวคุณอภิสิทธิ์แต่ไม่เชื่อมั่นว่าคนรอบตัวทั้งในพรรคเดียวกันและพรรคร่วมรัฐบาลจะไม่โกง ขณะที่คุณอภิสิทธิ์เองก็มีข้อจำกัดที่จะไปตรวจสอบอย่างใกล้ชิดทุกโครงการไม่ได้ เพราะกลัวพรรคร่วมจะแปรพักตร์ แต่ยังดีที่เปิดโอกาสให้หลายฝ่ายมีโอกาสตรวจสอบ เพราะภาคส่วนอื่นๆ ที่เข้ามาตรวจสอบการทุจริตยิ่งเข้มแข็งเท่าไร ยิ่งเป็นส่วนดีกับตัวนายกฯอภิสิทธิ์เอง' แหล่งข่าวในแวดวงการเมืองให้ข้อสังเกต

สำหรับในภาคส่วนของการตรวจสอบ ขณะนี้ไม่ว่าจะเป็น พรรคฝ่ายค้านอย่างเพื่อไทย วุฒิสภา และนักวิชาการต่างๆ ได้เตรียมการที่จะตรวจสอบงบฯก้อนนี้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาลที่ได้ร่วมมาตั้งแต่ยุครัฐบาลทักษิณ และมีพฤติกรรมส่อทุจริตมาโดยตลอด

เปิดโครงการเอื้อทุจริต
ตรวจสอบยาก

ไพบูลย์ นิติตะวัน สว.สรรหา ประธานคณะกรรมการอนุกรรมธิการส่งเสริมการมีส่วนร่วม เปิดเผยว่าในส่วนของวุฒิสภา แม้สุดท้ายแล้ว ที่ประชุมจะผ่านพ.ร.ก.4 แสนล้านบาทให้รัฐบาลไปดำเนินโครงการไทยเข้มแข็ง แต่ก็ยังเชื่อว่าจะมีการทุจริตกับโครงการต่างๆ เกิดขึ้น เพื่อนำเงินไปใช้สำหรับการเลือกตั้งในครั้งต่อไป ฉะนั้นต่อไปนี้จึงจะมีการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และพรรคร่วมอย่างใกล้ชิด

โดยการดูว่าโครงการไหนที่สามารถทุจริตได้นั้น ดูไม่ยาก เช่น ในกระทรวงคมนาคม งบก้อนที่จะนำมาวัดผลได้ยากที่สุด และจะต้องจับตาดูเป็นพิเศษคืองบบำรุงรักษาทางหลวง ที่กระทรวงคมนาคมได้งบในส่วนนี้ไปถึง 44,865 ล้านบาท หรืองานพัฒนาทางหลวง 9,100 ล้านบาท หรืองานอำนวยความปลอดภัย 12,870 ล้านบาท เพราะเป็นงบในลักษณะเดียวกัน คือมีรายละเอียดยิบย่อยจำนวนมาก ตรวจสอบยาก ขณะที่รัฐบาลได้ตั้งงบในกลุ่มนี้เป็นก้อนใหญ่มาก

ขณะที่โครงการถนนไร้ฝุ่น ดูจากรูปแบบเบื้องต้นแล้ว จะสามารถทุจริตได้ง่ายตั้งแต่รูปแบบการประมูล และผลประโยชน์จะตกไปอยู่กับ ส.ส.ที่เป็นนายทุนพรรค และผู้รับเหมาขนาดกลาง ตรวจสอบได้ยากเช่นกันเพราะเป็นโครงการยิบย่อย ต่างกับโครงการเมกะโปรเจคที่ผลประโยชน์มักไปตกอยู่กับผู้รับเหมาขนาดใหญ่น้อยราย ส่วนใหญ่เป็นนายทุนให้กับพรรคการเมือง ซึ่งโครงการเมกะโปรเจคนี้จะตรวจสอบการทุจริตได้ง่ายกว่า เพราะส่วนใหญ่ผู้รับเหมามักเป็นบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ และหากนำกฎเกณฑ์ตามแบบการกู้เงินไจก้าของญี่ปุ่นมาใช้ในการตรวจสอบเปรียบเทียบแล้ว ก็เชื่อว่าจะทุจริตได้ยาก

สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทั่วประเทศ ผู้ได้ประโยชน์มากคือผู้รับเหมาในเครือข่ายของคนระดับเจ้าของพรรค ตรวจสอบยากเพราะเป็นโครงการขนาดเล็ก และกระจายไปทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

ด้านพลังงานอยากให้จับตาดู ปตท. เพราะได้ข่าวมาว่าจะมีการตั้งบริษัทลูก ที่ปตท.ถือหุ้นใหญ่เข้ามารับงาน ผลประโยชน์จะตกอยู่กับเอกชนที่เป็นบริษัทลูกเหล่านี้ เพราะจะได้ผลประโยชน์จากสัญญากับรัฐ เช่น เป็นผู้จัดหาน้ำมันปาล์ม,ผู้รับวางท่อ,ผู้จัดซื้อต่างๆฯลฯ


แก้ไขล่าสุดโดย RED LETTER เมื่อ Mon Apr 12, 2010 11:20 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
RED LETTER
RED LETTER

จำนวนข้อความ : 266
Join date : 24/09/2009

ขึ้นไปข้างบน Go down

แกะรอยการทุจริตยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ 100 ชัก 30!? Empty Re: แกะรอยการทุจริตยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ 100 ชัก 30!?

ตั้งหัวข้อ by RED LETTER Mon Apr 12, 2010 11:14 pm

นส่วนด้านไอที งบที่น่าสงสัยที่สุดคืองบด้านการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ ที่ตอนนี้หลายๆกระทรวงได้ตั้งงบตัวนี้มา ซึ่งเป็นงบที่ตรวจสอบได้ยากมาก ถ้าเทียบกับสมัยก่อนแล้ว การทุจริตจัดซื้อคอมพิวเตอร์จะดูและตรวจสอบได้ง่าย แต่วันนี้การทุจริตก็มีแนวโน้มซับซ้อนมากขึ้น ส่วนกระทรวงไอซีที (กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) ให้ดูที่การให้บริการต่างๆ ก็จะเป็นช่องที่รั่วไหลได้ง่ายเช่นกัน โดยเฉพาะในส่วนของรัฐวิสาหกิจอย่าง ทีโอที และ กสท.

'งบพวกนี้มันซับซ้อน ดูไม่ได้ง่ายๆ การทุจริตจึงมักรอดหูรอดตาฝ่ายตรวจสอบ ไม่เหมือนโครงการเช่ารถเมล์ 4,000 คัน ที่ส่อเจตนาทุจริตชัดเจน และสังคมเข้าตรวจสอบง่ายกว่า'

นอกจากนี้ยังมีงบที่น่าจับตาเป็นพิเศษในทุกกระทรวงคืองบที่นำไปจ้างบริษัทที่ปรึกษา และบริษัทที่ดำเนินการด้านประชาสัมพันธ์ ซึ่งพรรคการเมืองต่างๆ มักใช้วิธีนี้ในการทุจริต โดยเฉพาะการจ้างบริษัทที่ปรึกษาต่างๆ ที่นอกจากจะใช้งบประมาณจำนวนมากแล้ว เงินรั่วไหลได้ง่าย แถมยังส่งผลให้เกิดการล็อคสเปกและทุจริตในงานหลักต่อไปได้ด้วย

เพื่อไทยเตรียมซัด
มาร์คทุจริต SML

วิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน และรองประธานกมธ.งบประมาณสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า แม้ว่าจะเพิ่งมีการพิจารณางบในภาพรวม และเริ่มเข้าสู่การพิจารณางบในส่วนของกระทรวงต่างๆ แต่งบที่ส่อทุจริตมากที่สุดที่เพื่อไทยจับตาเป็นพิเศษได้แก่ โครงการ SML ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นอยู่ดีมีสุขในสมัย พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และเปลี่ยนอีกครั้งในสมัยประชาธิปัตย์โดยใช้ชื่อว่าชุมชนพอเพียง

ปัญหาคือปรัชญาของโครงการนี้คือให้ชาวบ้านนำเสนอโครงการ และผ่านกระบวนการประชุมของหมู่บ้าน เพื่อขอเงินกู้จากรัฐบาล แต่ปรากฏว่าในเอกสารของรัฐบาลได้แนบโครงการตัวอย่าง และมีการชี้นำให้ใช้สินค้าของเอกชนเฉพาะรายเข้าไปด้วย เช่น เครื่องผลิตน้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์ ที่แนบราคาและชื่อผู้จำหน่ายเบ็ดเสร็จ มี 3 ขนาดคือ ขนาดใหญ่ 300,000 บาท ขนาดกลาง 250,000 บาท และขนาดเล็ก 200,000 บาท ตามด้วยโคมไฟถนนพลังงานแสงอาทิตย์ ราคาดวงละ 50,000 บาท หรือเตาเผาขยะประสิทธิภาพสูง ราคาชุดละ 100,000 บาท โดยมีระบุในวงเล็บด้วยว่า จัดตามวงเงินที่ได้รับมา 1 อย่าง หรือทุกอย่างให้ครบตามวงเงิน ตรงนี้ถือว่าส่อทุจริตอย่างชัดเจน

ปากบารายังไม่ผ่าน EIA
ตั้งงบเสียเปล่า

ศ.ดร.พลายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในกลุ่มจับตานโยบายรัฐบาล หรือ Policy watch กล่าวว่ากลุ่ม policy watch จะเข้ามาช่วยเป็นหนึ่งในกระบวนการตรวจสอบโครงการต่างๆ ของรัฐบาล โดยจะเน้นดูความเหมาะสมของโครงการต่างๆ ว่ามีความคุ้มค่าต่อเศรษฐกิจและสังคมหรือไม่ โดยจากผลการศึกษาเบื้องต้น ก็มีข้อสังเกตหลายประการ

โครงการส่วนใหญ่เป็นโครงการก่อสร้าง ซึ่งจะดีและสร้างผลประโยชน์ให้ผู้รับเหมา ไม่ว่าจะเป็นการทำรถไฟฟ้า การเปลี่ยนระบบราง หรือการซื้อหัวรถจักร ซึ่งแม้ในเอกสารงบประมาณจะแจ้งว่าจะเน้นการใช้วัสดุภายในประเทศให้ได้ 70% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน แต่ความเป็นจริงยังต้องนำเข้าจำนวนมาก โดยเฉพาะหัวรถจักรซึ่งจะต้องนำเข้าในมูลค่ามหาศาล หรือโครงการเกี่ยวกับโครงข่ายโทรศัพท์ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ ซึ่งถึงแม้จะคุ้มค่าในระยะยาว แต่อาจไม่ส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้เร็วตามที่ประเทศชาติกำลังต้องการ

ขณะที่หลายโครงการเป็นโครงการปกติที่กระทรวงต่างๆ ต้องทำอยู่แล้ว แต่กลับมาตั้งเป็นงบกลางขึ้นมา และบางโครงการมีการศึกษามาแล้วว่าไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ แต่ก็อยู่ในแผนงาน เช่น โครงการท่าเรือปากบารา และโครงการยกระดับแม่น้ำเจ้าพระยา(สร้างเขื่อน) อีกทั้งหลายโครงการกระจุกตัวอยู่ในกทม.และปริมณฑล เช่น สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และการปรับปรุงถนนหลายสายในกทม.

ส่วนโครงการที่น่าจะมีแต่ก็ไม่มี คือการพัฒนาการขนส่งทางน้ำ ซึ่งไม่มีโครงการปรากฏซึ่งน่าเสียดาย ทั้งๆ ทั้งมีโครงการหลายโครงการน่าสงเสริมเช่น ท่าเรือเจ้าพระยา หรือ ป่าสัก

'งบก่อสร้างถนนดูแล้วมากเกินไปหรือเปล่า รวมทั้งถนนท้องถิ่น ถนนปลอดฝุ่นอีก ซึ่งดูแล้วมันก็ดี แต่น่าจะทุ่มงบไปยังขนส่งอื่นๆ โดยเฉพาะทางน้ำ เพราะจะได้ประโยชน์ต่อการขนส่งสินค้าได้มากขึ้น'

โดยรวมแล้วน่าเป็นห่วงว่าโครงการต่างๆ จะไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในทันที และหลายโครงการยังทำได้ล่าช้า เช่น โครงการท่าเรือปากบารา ของกระทรวงคมนาคม ตอนนี้ยังอยู่ในกระบวนการศึกษา EIA แต่รัฐบาลกลับกำลังดำเนินการเตรียมเปิดประมูล โดยได้ให้ข่าวกับสื่อมวลชนไปแล้วด้วยว่า มีกลุ่มดูไบ เวิล์ดที่ให้ความสนใจเข้ามาประมูลงาน

'ตั้งงบฯมาแล้ว ก็ไม่ได้ใช้ จนกว่าผลการศึกษาจะสำเร็จออกมา ถ้าตั้งงบไว้เฉยๆ แบบนี้ก็เสียของเปล่าๆ แถมไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ'

อย่างไรก็ดี แม้จะมีการเปิดช่องให้เอื้อทุจริตได้ง่าย แต่สำหรับ ศ.เกียรติคุณ เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการสำนักงานป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ และอดีตสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เชื่อว่า รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 โดยเฉพาะมาตรา 168 ที่มีรายละเอียดเกี่ยวข้องกับระเบียบการใช้งบกลางของรัฐบาล จะเป็นเครื่องมือที่ดีที่ทำให้การทุจริตได้ยากขึ้น

'มาตรา 168 ในรัฐธรรมนูญ 2550 นี้ เกิดขึ้นเพราะในสมัยคุณทักษิณ มีการตั้งงบกลาง ขึ้นมาใช้ และตรวจสอบการใช้เงินไม่ได้ โดยเฉพาะทัวร์นกขมิ้นที่ทำให้ประเทศชาติสูญเงินไปในระดับแสนล้านบาท รัฐธรรมนูญ 50 จึงเขียนไว้ป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งบกลางโดยเฉพาะ ฉะนั้นต้องใช้เครื่องมือนี้อย่างเต็มที่ในการตรวจสอบ'

อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุดแล้ว เชื่อได้ว่ามาถึงขั้นนี้แล้วการหยุดยั้งการทุจริตที่กำลังจะเกิดขึ้นอาจทำได้ยาก เพราะมีการเตรียมการมาอย่างยาวนาน แต่หากปล่อยให้มีการทุจริตทุกหย่อมหญ้าเกิดขึ้น นอกจากไม่กระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงแล้ว ผลกระทบโดยตรง จะเกิดกับตัวนายก 'อภิสิทธิ์'และพรรคประชาธิปัตย์ที่จะถูกสังคมตราหน้าในที่สุดว่าเป็นรัฐบาลโกงกินไม่ต่างกับระบอบทักษิณ!?

*************

แฉ '4 บิ๊กการเมือง'จุดอ่อนรัฐบาล!

จับตา 4 ตัวละครหลักในครม. 'มาร์ค' เป็นทั้ง 'ตัวช่วย'และ 'จุดอ่อน' ในเวลาเดียวกัน 'สุเทพ' ดูงานความมั่นคง แต่คุ้มครองรมต.ไม่ได้ ด้าน 'กรณ์'เจอศึกหนัก ต้องเร่งพิสูจน์ฝีมือ 'ขุนคลัง'ให้สมราคาคุย ขณะที่ 'เนวิน-บรรหาร' สั่งการหลังม่าน เร่งโกยงบ-ฟอกตัว

กลไกหลักที่จะเข้ามามีส่วนสำคัญในการผลักดันนโยบายและบริหารจัดการเงินงบประมาณผ่านไปยังนโยบายและโครงการต่างๆอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพได้มากที่สุดนั้น นอกเหนือไปจากการมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว ปัจจัยหลักยังต้องอาศัย 'ตัวบุคคล'ที่มีความรู้ ความสามารถ สร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกฝ่าย โดยเฉพาะเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนได้เป็นอย่างดี ทั้งในเรื่องของ 'ฝีมือ'และปราศจากการทุจริตคอรัปชั่น

ทว่าในความเป็นจริงแล้วตลอดระยะเวลาที่นายกฯอภิสิทธิ์ บริหารงานมากว่า 6 เดือนพบว่ารัฐมนตรีซึ่งเป็นแกนหลักเกี่ยวข้องกับการพลิกฟื้นวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศหลายต่อหลายกระทรวง ล้วนแล้วแต่ต้องเผชิญหน้ากับคำถามและแรงกดดันจากสาธารณชนมาอย่างต่อเนื่อง บ้างถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึง ความรู้ความสามารถ ขณะที่รัฐมนตรีบางกระทรวงกลับถูกเพ่งเล็งเรื่องของ 'ผลประโยชน์' และความไม่ถูกต้องโปร่งใส อย่างหนัก'!

'กรณ์' พิสูจน์ฝีมือ
'ขุนคลัง'สมราคา ?

จุดขายของพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาลนับตั้งแต่ยุค 'ชวน 2 เป็นต้นมาคือการชู 'ทีมเศรษฐกิจ' ของพรรคมาโดยตลอด ในการจัดตั้งรัฐบาล 'อภิสิทธิ์ 1' ร่วมกับ พรรคร่วมรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้เลือกชูทีมเศรษฐกิจของพรรคขึ้นมาเรียกคะแนนและสร้างความเชื่อมั่นจากประชาชนอีกครั้ง

'กรณ์ จาติกวณิช' รองหัวหน้าพรรค คือผู้ที่ถูกกำหนดเอาไว้ให้เข้ารับตำแหน่งขุนคลังมาตั้งแต่แรก ด้วยความพร้อมทั้งประสบการณ์ ความรู้ความสามารถ และเมื่อกรณ์ ต้องเข้ามารับบทรมว.คลัง ตัวจริงเสียงจริงในรัฐบาล กลับพบว่าการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจของไทยในรอบนี้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต่างไปจากสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในปี 2540 อย่างสิ้นเชิง

ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีหน้าที่กำกับดูแลและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยตรงของประเทศ ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่เอื้ออำนวยเท่าใดนัก จึงส่งผลให้กรณ์ กลายเป็นรัฐมนตรีที่ถูกหลายฝ่ายจับตามากเป็นพิเศษ ว่าแนวนโยบายและมาตรการแก้ไขปัญหาต่างๆที่ออกมานั้นจะได้รับการสนองตอบมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะมาตรการจัดเก็บรายได้ที่รัฐบาลเตรียมการเอาไว้คือการออกกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนฯ ขณะที่ก่อนหน้านี้ต้องยอมรับว่ากรณ์ รมว.คลัง ถูกโจมตีอย่างหนักจากการออกพ.ร.ก.กู้เงินเพื่อรักษาเสถียรภาพการคลังของประเทศโดยเร่งด่วน เป็นเงิน 4 แสนล้านบาทและพ.ร.บ.กู้เงินอีก 4 แสนล้าน ที่ถูกมองนอกจากจะไม่สามารถแก้วิกฤตได้แล้ว ยังเป็นการเพิ่มภาระตัวเลขหนี้สาธารณะให้สูงขึ้นและยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาการทุจริตอย่างหนักกว่าที่ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับจะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา จนกรณ์ ต้องยกเอาศักดิ์ศรีของตนเองค้ำประกัน มาแล้ว

'สุเทพ'ล้มเหลวงาน
'ความมั่นคง'

'สุเทพ เทือกสุบรรณ' รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ถือเป็นบุคคลหนึ่งที่อยู่ในกระแสความสนใจมากที่สุดเช่นกัน ในฐานะผู้จัดการรัฐบาลที่ต้องเล่นหลายบทบาททั้ง บู๊และบุ๋นเพื่อหาทางประคับประคองรัฐบาลให้อยู่บริหารยาวนานมากที่สุด โดยเฉพาะการสวมบทมือประสานสิบทิศกับทั้งแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล กองทัพและกลุ่มอำนาจนอกรัฐบาล และในบางครั้งสุเทพ ต้องรับหน้าที่ 'เคลียร์ใจ'เมื่อเกิดรอยร้าวขึ้นทั้งในพรรคและในรัฐบาล

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าสุเทพ ถือเป็นทั้งจุดแข็งและ 'จุดอ่อน'ในรัฐบาลไปพร้อมกัน เพราะแม้สุเทพ จะเป็นตัวจักรสำคัญควบคุมทิศทางการเมืองให้กับนายกฯอภิสิทธิ์ แต่ดูเหมือนว่างานในความรับผิดชอบของเขาเอง คือด้านความมั่นคงของประเทศนั้น มักเกิดปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการควบคุมสกัดกั้นมวลชน 'เสื้อแดง' ไม่ให้เคลื่อนไหวขัดขวางการทำงานของรัฐมนตรีในแต่ละพื้นที่กลับล้มเหลว จนต้องเป็นหน้าที่ของ เนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย ให้ปลุก 'เสื้อน้ำเงิน' ออกมาทำหน้าที่คุ้มครองดูแลคนในรัฐบาล เพราะเหตุที่สุเทพ แม้จะกำกับดูแลฝ่ายตำรวจ แต่กลับไม่สามารถสั่งการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ เหตุการณ์ความรุนแรงในเดือนเมษายน ที่ผ่านมาและการปิดฉากการประชุมอาเซี่ยน ที่จ.ชลบุรี อย่างกระทันหันเพราะกลุ่มเสื้อแดงบุกไปพังการประชุมในครั้งนั้นได้กลายเป็นภาพที่ติดลบให้กับรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง อย่างชัดเจน และส่งผลให้มีเสียงเรียกร้องเสนอให้ 'ปลด' สุเทพ พ้นจากเก้าอี้กันมาแล้ว

'เนวิน'ฉวยจังหวะ
'ฟอกตัว' - โกยงบ
RED LETTER
RED LETTER

จำนวนข้อความ : 266
Join date : 24/09/2009

ขึ้นไปข้างบน Go down

แกะรอยการทุจริตยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ 100 ชัก 30!? Empty Re: แกะรอยการทุจริตยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ 100 ชัก 30!?

ตั้งหัวข้อ by RED LETTER Mon Apr 12, 2010 11:16 pm

ตัวละครที่ต้องให้ความสำคัญและถูกสังคมเฝ้าจับตามองมากที่สุดในรัฐบาลชุดนี้ ย่อมไม่พ้น 'เนวิน ชิดชอบ'แกนนำพรรคภูมิใจไทย เพราะแม้เข้าจะไม่มีตำแหน่งใดๆในครม.ก็ตาม แต่ย่อมเป็นที่เข้าใจกันดีว่าทุกการขับเคลื่อนในด้านนโยบายที่ผ่านกระทรวงในโควตาของพรรค รวมถึงทิศทางการต่อสู้ทางการเมือง ล้วนแล้วแต่ถูกกำหนดและสั่งการมาจาก เนวิน เป็นหลัก โครงการหลายต่อหลายโครงการที่ถูกเสนอจากกระทรวงคมนาคม ,กระทรวงเกษตรฯและกระทรวงมหาดไทย กลายเป็นสิ่งดึงดูดให้เกิดการตรวจสอบมาอย่างต่อเนื่อง

ตัวตนความเป็นเนวิน นั้นดูจะเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเขาไม่เพียงแต่จะเป็นนักการเมืองประเภทเขี้ยวลากดินในเรื่องชั้นเชิงทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังมีความเชี่ยวชาญเรื่องการคิดค้นโปรเจคใหญ่ๆที่มีเม็ดเงินงบประมาณมหาศาลแทบทั้งสิ้น ความพิเศษในการบริหารจัดการและคิดค้นวิธีการหาเงินและการใช้เงินของเนวิน นั้นหลายคนเชื่อว่าเขาสามารถผสมผสานแนวทางของนักการเมืองรุ่นเก่ากับใหม่ได้อย่างลงตัว ด้วยวิทยายุทธ์ที่เขาได้มีโอกาสฝึกปรือมาจากครอบครัวในฐานะกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่นในจ.บุรีรัมย์ จนมีพัฒนาการเรื่อยมาจนถึงยุคการล่มสลายของบีบีซี ที่เขาและกลุ่ม 16 มีชื่อเข้าไปเกี่ยวข้อง เมื่อได้เข้าไปใกล้ชิดทำงานร่วมกับอดีตนายกฯทักษิณ เนวิน ก็ย่อมซึมซับกลยุทธ์การหาเงินของ 'ทุนนิยม' เอาไว้เป็นบทเรียนสำคัญไว้ได้อีก

สไตล์'บรรหาร'
นิยม 'ล้วง-เลี้ยง'

'บรรหาร ศิลปะอาชา' อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย แม้ปัจจุบันจะติดล็อคสมาชิกบ้านเลขที่ 109 จากคดียุบพรรคก็ตาม แต่สิ่งเหล่านี้ย่อมไม่ใช่อุปสรรคที่ขวางกั้นการบริหารจัดการงานทั้งหมดภายในพรรค 'ชาติไทยพัฒนา' อย่างแน่นอน ทั้งในเรื่องของการส่ง 'ตัวแทน'เข้าไปประจำการในกระทรวงต่างๆตามโควตาของพรรคเพื่อดูแลรักษาผลประโยชน์เอาไว้ให้ได้อย่างเต็มที่ ตามสไตล์การทำงานและสั่งการแบบ 'ล้วงลูก'ของบรรหาร ที่ดำเนินการมาโดยตลอดนั้น แม้ในบางครั้งจะถูกมองว่าเป็นวิธีการเก่าแก่ก็ตามแต่ปฏิเสธไม่ได้ถึงความคุ้มค่าที่เกิดขึ้น

นอกเหนือไปจากการทำงานแบบล้วงลูกของบรรหาร หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ตัวจริงเสียงจริงแล้ว บรรหาร ยังเป็นนักการเมืองที่ขึ้นชื่อในเรื่องของการเลี้ยงดูข้าราชการมากที่สุด โดยจะดูแลมาตั้งแต่ระดับล่าง แทบทุกกระทรวงโดยมองไปถึง 'จุดคุ้มทุน'ที่จะมีขึ้นในอนาคต เมื่อถึงวันที่ข้าราชการเหล่านั้นก้าวไปสู่จุดสูงสุด มีอำนาจในการตัดสินใจ ซึ่งจะสังเกตได้ว่าที่ผ่านมาพรรคชาติไทย มักจะยึดโควตาในกระทรวงเดิมไม่กี่กระทรวง แต่มักเป็นแหล่งทำงานและสร้างเงินได้ชนิดเห็นน้ำเห็นเนื้อแทบทั้งสิ้น อาทิ กระทรวงศึกษาฯ ,กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงคมนาคม

ความน่าสนใจของรัฐบาลชุดปัจจุบันนั้น นอกเหนือไปจากการเฝ้ามองหนทางคลี่คลายวิกฤตรอบด้านแล้ว ปัญหาเรื่องของตัวบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้องในแง่มุมต่างๆยังกลายเป็นประเด็นที่สังคมจับตามากเช่นกัน เพราะบุคคลเหล่านี้สามารถสร้างผลกระทบต่อการบริหารและตัดสินใจของผู้นำรัฐบาล ขณะเดียวกันสำหรับนายกฯอภิสิทธิ์เอง ก็จำเป็นที่ต้องเรียนรู้วิธีการอยู่ร่วมและบริหารจัดการคนกลุ่มนี้เพื่อให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด

**************

6 เดือน 'มาร์ค' สอบตกกราวรูด
สภาอุตฯ-นักวิชาการ จี้แก้ไม่ได้สิ้นปี get out

นักวิชาการ ระบุ รัฐบาลอภิสิทธิ์ ล้มเหลวทุกด้าน ชี้ สังคมวิตกจริต เหตุคุม วิกฤตไข้หวัด 2009 ไม่ได้ ชี้ 6 เดือน เศรษฐกิจ ยังติดหล่ม ฟากปัญหาทางการเมืองยังไม่เดินหน้า ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ติงมาร์คใช้ยาไม่ถูกโรค-ผู้ประกอบการายย่อยทยอยปิดตัว เชื่อ พรรคร่วมมัวแต่แบ่งเค้กจนกลายเป็นตัวถ่วงสำคัญทำให้แก้ปัญหาไม่สำเร็จ แนะยุบสภา สิ้นปี หากแก้ปัญหาไม่ได้...

ผ่านไปกว่า 6 เดือน กับการบริหารประเทศของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การบริหารงานของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีที่เปี่ยมด้วยความหวังอย่างสูงจากสังคม ทว่า ความพึงพอใจของสังคมต่อการบริหารนั้นกลับไม่ดีนัก ในสายตาของนักสังเกตการณ์ทางการเมืองและผู้คนในแวดวงธุรกิจโดยตรง

ทั้งในด้านการเยียวยาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างแท้จริง รวมถึงปัญหาด้านอื่นๆ ทั้งด้านการเมือง และสังคมก็ยังไม่ถือว่าจะดีเท่าไหร่นัก

สังคม วิตกจริต วิกฤต
ไข้หวัด 2009

ความเป็นจริงที่สวนทางกลับความคาดหวัง สะท้อนได้อย่างชัดเจนจากผลสำรวจความคิดเห็นของโพลของสำนักต่างๆที่ชี้ว่า ภาพรวมในการแก้ปัญหาทั้ง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่น่าพึงพอใจนัก คะแนนเต็ม 10 ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4 เปอร์เซ็นต์กว่าๆเท่านั้น

'ค่อนข้างเห็นด้วยกับผลโพลที่ชี้ว่า รัฐบาลสอบตกทุกด้านตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา กรณีที่แย่ที่สุด คือ การป้องกันไข้หวัดใหญ่พันธุ์ใหม่ 2009 รวมถึงด้านเศรษฐกิจ ก็ไม่ตรงเป้านัก รวมถึงความขัดแย้งทางการเมืองที่ไม่มีทีท่าจะทุเลาลงเลย'

ผศ.ยุทธพร อิสระชัย ผู้อำนวยการโครงการวิทยาลัยการเมือง สาขาวิชารัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ประเมินสถานการณ์ ของรัฐบาลว่า ยังไร้ฝีมืออย่างมากในการแก้ไขปัญหา และหากพิจารณาจากนโยบายต่างๆทั้ง 'นโยบาย 99 วัน ทำได้จริง' ที่ถือเป็นวาระเร่งด่วนตามที่รัฐบาลได้แถลงในวันเข้ารับตำแหน่ง รวมถึงในแง่จริยธรรมที่มีข้อกำหนดด้วย บัญญัติ 9 ประการที่นับวันก็พบว่าไม่อาจเชื่อถือได้อย่างแท้จริง

ปัญหาด้านสังคม ถือว่าเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ขณะนี้ความเชื่อมั่นของประชาชนในมาตรการการป้องกันการระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่รัฐบาลมิได้มีมาตรการในการรับมือและแก้ปัญหาได้ดีพอ ซึ่งจากปัญหาดังกล่าวจึงส่งผลกระทบไปยังปัญหาด้านอื่นๆอีก ทั้ง ความปลอดภัยในสุขภาพของประชาชน การท่องเที่ยว ฯลฯ

การเมืองสุดแย่
พรรคร่วมตัวถ่วงรัฐบาล

ในด้านวิกฤติการทางการเมืองที่รัฐบาลชูธง'สมานฉันท์' เป็นแนวทางหลัก โดยเฉพาะการปฏิรูปการเมืองที่รัฐบาลประกาศไว้นั้น ปัจจุบันก็ได้ผลักภาระให้สถาบันพระปกเกล้าเป็นผู้รับผิดชอบและไม่มีความคืบหน้าสักเท่าใดนัก

ขณะที่ด้านการบริหาร ตามข้อตกลงในการจัดตั้งรัฐบาลระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลนั้นมีข้อครหาในเรื่องผลประโยชน์ในแต่ละโครงการที่ทุกพรรคล้วนต้องการ ซึ่งในแง่ของผลประโยชน์ส่วนร่วมบางโครงการที่มากด้วยข้อครหาและมีปัญหาอย่างมาก อาทิ โครงการเช่ารถเมล์ NGV 4,000 คัน การรับจำนำผลิตผลทางการเกษตร และโครงการอื่นๆภายใต้ยุทธศาสตร์ไทยเข้มแข็ง จึงทำให้รัฐบาลขับเคลื่อนนโยบายและตัดสินใจได้ไม่ง่ายนักเมื่อต้องคำนึงระหว่างการกู้วิกฤตเศรษฐกิจ-อายุของรัฐบาล แนวทางต่อจากนี้ไปจึงอยู่ในลักษณะของการซื้อเวลาแทน

'ท่ามกลางสภาพการณ์เช่นนี้จะทำให้รัฐบาลไม่สามารถที่จะดำเนินการในเรื่องใดๆได้ เพราะข้อตกลงในการพลิกขั้วก็เป็นเงื่อนไขที่ทำให้รัฐบาลไม่อาจที่จะตัดสินใจในเรื่องต่างๆได้'

ขณะที่ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจนั้น ก็ยังไม่ตรงเป้าหมาย และบางโครงการก็ไม่ได้ผล อาทิ โครงการต้นกล้าอาชีพ เช็คช่วยชาติ เป็นต้น ขณะที่ โครงการไทยเข้มแข็ง ก็ยังน่ากังวลว่าเม็ดเงินที่ลงไปนั้นจะสามารถกระตุ้นการลงทุนคุ้มค่ากับหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นหรือไม่

แก้ศก.ไม่ตรงจุด
แนะกระตุ้นภาคการผลิต

สอดคล้องกับที่ ไพบูลย์ พลสุวรรณา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งมองว่า การแก้ปัญหาของรัฐบาลยังไม่ตรงจุดและมุ่งเน้นในเชิงการเมืองด้วยแนวทางประชานิยมเพื่อเพิ่มคะแนนเสียงมากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

'ที่ผ่านมารัฐบาลสนใจเพียงปัญหาทางการเมือง ที่แก้ในเชิงประชานิยมมากกว่า รัฐบาลจึงควรที่จะกระตุ้นภาคการผลิตภายในเสียก่อนภาคบริการจึงจะเดินต่อไปได้ตามแนวทางที่คิดว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะสามารถแก้ปัญหาและดึงเม็ดเงินได้'

ดังนั้น 6 เดือนที่ผ่านมา จึงถือว่ารัฐบาลยังคงสอบตกอีกเช่นเคยกับการแก้ปัญหาในภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ในอนาคตแม้ว่าจะมีโครงการลงทุนก่อสร้างในโครงการใหญ่มากมายอาทิ โครงการ ถนนปลอดฝุ่น รถไฟรางคู่ เป็นต้น แต่ก็ถือว่าเป็นมาตรการระยะยาว ขณะทีมาตรการระยะสั้น และระยะกลางยังไม่มีความชัดเจน

อย่างไรก็ดีในความเป็นจริงภาคการผลิตโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อย (SMEs) ที่ทยอยปิดตัวลงกันอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุจากการขาดเงินทุนหมุนเวียนขณะที่รัฐบาลต้องการให้ประคองกิจการเพื่อป้องกันปัญหาการว่างงาน

'การแก้ปัญหาตามโครงการไทยเข้มแข็งแม้ว่าจะมีโครงการใหญ่ๆมากมายแต่ก็เป็นโครงการระยะยาวที่เหมือนกับว่า รัฐบาลกำลังเลี้ยงหมูเพื่อให้รอกินเนื้อขณะที่ท้องก็กำลังหิวและกำลังจะตาย'

ขีดเส้นตายสิ้นปี ยุบสภา

ดังนั้น ภาพรวมทั้งในแง่ของ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ที่อยู่ในภาวะถดถอยอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนหน้าการเข้ามาเป็นรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งความคาดหวังของสังคมที่ค่อนข้างสูง ที่มีเสียงตอบรับจากพรรคประชาธิปัตย์ ว่า นโยบาย 99 วันทำได้จริง จะสามารถลบล้างคำครหา ถึงการเป็นฝ่ายค้านมืออาชีพ แต่เป็นรัฐบาลที่ไร้ฝีมือ

6 เดือนที่ผ่านมาผลสะท้อนจากการสำรวจของโพลสำนักต่างๆ ก็ยังชี้ว่ารัฐบาลอยู่ในเกณฑ์สอบตก ซึ่งอาจไม่ดีเท่าไหร่นัก แต่โอกาสยังคงมีเมื่อสังคมยังให้โอกาสรัฐบาลได้แสดงฝีมือในครึ่งหลังของปี 2552 นี้ และเมื่อทุกอย่างยังไม่ดีขึ้นนักวิชาการและรองประธานสภาอุตฯ ล้วนมีความเห็นตรงกันว่า นายกฯอภิสิทธิ์ ควรยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่และเปิดโอกาสให้พรรคที่มีความพร้อมมากกว่ามาทำหน้าที่แทนซึ่งจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด...

**************
***
RED LETTER
RED LETTER

จำนวนข้อความ : 266
Join date : 24/09/2009

ขึ้นไปข้างบน Go down

แกะรอยการทุจริตยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ 100 ชัก 30!? Empty Re: แกะรอยการทุจริตยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ 100 ชัก 30!?

ตั้งหัวข้อ by RED LETTER Mon Apr 12, 2010 11:18 pm

ทึ้ง'บุฟเฟ่คาร์บิเนต' ไทยเข้มแข็ง
ขอดเกล็ดโครงการกับดัก'มาร์ค'ตกม้าตาย !

ตลอดเวลา 6 เดือนที่ผ่านมาปัญหาต่างถาโถมเข้าใส่ 'รัฐนาวาอภิสิทธิ์'ลูกแล้วลูกเล่า ทั้งเรื่องประชุมอาเซียนที่พัทยาล่มลงอย่างไม่เป็นท่า ทั้งเรื่องมวลชนคนเสื้อแดงเผาเมืองในช่วงสงกรานต์ ทั้งเรื่องวิกฤตไข้หวัด 2009 เป็นต้น

แต่การจะอยู่หรือจากไปของ'รัฐนาวาอภิสิทธิ์' ขึ้นอยู่ กับตัวบุคคลหรือ นโยบายของรัฐนั่นเอง 'เหมือนสนิมที่เกิดจากเนื้อในตนฯ'ฉันนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง รมต.สายล่อฟ้า -โครงการที่ส่อพิรุธในเรื่องคอร์รัปชั่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต่างหากคือโจทย์ที่ 'นายกฯอภิสิทธิ์'ต้องแก้สมการการเมืองให้ลุล่วงหากคิดรักษาเก้าอี้นายกรัฐมนตรีให้ตลอดรอดฝั่งในระยะเวลา 4 ปี

3 โปรเจกต์'ภูมิใจไทย' ฉาวโฉ่

โครงการที่อยู่ในมือพรรคร่วมต่างหากคือจุดบอดของรัฐบาลชุดนี้ ประกอบด้วย

1. โครงการรถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน ด้วยมูลค่าโครงการกว่า 6.4 หมื่นล้านบาทที่อยู่ภายใต้การบริการของพรรคภูมิใจไทยที่มี 'เนวิน ชิดชอบ'เป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังโครงการที่หลายฝ่ายกังขา-ห่วงใย-สงสัยหรือจนกระทั่งได้ฟันธงไปแล้วว่ากันว่า มีโกงแน่นอนเพราะโครงการนี้ได้รับการผลักดันอย่างจริงจังตั้งแต่ในสมัย 'รัฐบาลสมัคร'ซึ่งในวันนั้น'กลุ่มเพื่อนเนวิน' ก็ดูแลเองจนมาวันนี้'โสภณ ซารัมย์' นั่งรมว.คมนาคมมีหรือไอ้เสือจะถอยติดแต่เพียงว่ามีเสียงทักกันเกรียวกราวว่าต้องโปร่งใส่จึงเกิดซื้อเวลาเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น..

นอกจากนี้ยังต้องวัดใจ 'อภิสิทธิ์'เช่นกัน เพราะขณะนี้อยู่ระหว่างการรอคำตอบจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ที่เป็นผู้ให้คำตอบและสุดท้ายครม.ชุดนี้จะเป็นผู้อนุมัติโครงการอยู่ดี

ในระนาบเดียวที่ 'ภูมิใจไทย'ยังปัดไม่พ้นข้อครหาคือ

2. โครงการแปรรูปการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟได้สไตร์คหยุดงานทั่วประเทศโดยเหตุผลที่สำคัญในการประท้วงคือการแปรรูปฯดังกล่าวจะมีการตั้งบริษัทลูกขึ้น 2. แห่งมาดูแล 1.บริษัทเดินรถ และ2.บริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งกลัวกันว่าทรัพย์สินโดยเฉพาะที่ดินของการรถไฟที่มีอยู่จำนวนมากจะถูกนักการเมืองเข้ามาหาผลประโยชน์ และแปรรูปฯนี้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการขาดทุนได้ เพราะปัญหาการขาดทุนเกิดจากต้นทุนค่าโดยสารต่ำกว่าความเป็นจริง

อย่างไรก็ดีโครงการนี้จะถูกชะลอออกไปก่อนแต่เชื่อว่าในอนาคตโครงการนี้จะถูกหยิบมาปัดฝุ่นอีกเพราะสคร. (คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ) หน่วยงานต้นเรื่องยังยืนยันว่านี่คือแนวทางที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุดในการแก้ไขปัญหาการขาดทุนสะสมของรฟท.กว่า 7 หมื่นล้านบาทนี่จึงเป็นอีกโครงการหนึ่งที่รอว่าวันใดจะเดินหน้าหรือไม่เท่านั้น โครงการดังกล่าวจึงเป็นเหมือนหอกข้างแคร่ที่จะทิ่มแทง 'รัฐนาวาอภิสิทธิ์' ได้ทุกเมื่อในระยะเวลาที่เหลืออีก 3 ปีกว่าๆ

3. โครงการถนนปลอดฝุ่น (ถนนไร้ฝุ่น) หนึ่งในโครงการไทยเข็มแข็ง ที่มีมูลค่าโครงการกว่า 3.4 หมื่นล้านบาทที่อยู่ในความรับผิดชอบพรรคภูมิใจไทยก็จะเป็นอีกโครงการที่ถูกจับตาโดยโครงการดังกล่าวจะแบ่งเป็น 2 ระยะในการก่อสร้างโดยระยะแรก (เฟส 1) จะใช้งบลงทุน 14,800 ล้านบาทจะเพิ่มถนนปลอดฝุ่นได้ 3,200 กิโลเมตรซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างทั้งหมด 8 เดือน ส่วนระยะที่สอง (เฟส2) ต้องใช้วงเงินลงทุนอีก 20,000 ล้านบาทสามารถสร้างถนนปลอดฝุ่นได้อีก 4,000 กิโลเมตรซึ่งรวมทั้งโครงการจะมีถนนปลอดฝุ่นทั่วประเทศประมาณ 7,200 กิโลเมตรทั่วประเทศ

โครงการนี้เป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยซึ่งคาดกันว่าปลายเดือนก.ค.นี้จะสามารถเปิดประมูลผ่านระบบอีออค-ชั่นได้แต่ข้อครหาในเรื่องความไม่โปร่งใสในบริษัทที่จะเข้าประมูลงานมีความสัมพันธ์กับนักการเมือง โดยเฉพาะนายทุนหรือคนใกล้ชิดพรรคร่วมในแต่ละจังหวัดที่น่าจะเข้าร่วมประมูลและได้งานประมูลครั้งนี้ ไป อีกทั้งพื้นที่ถนนปลอดฝุ่นส่วนมากจะลงพื้นที่ภาคอีสานในถิ่นธุระกันดารทำให้มองกันว่าภูมิใจไทยหวังใช้นโยบายนี้สร้างฐานเสียงให้ตัวเองซึ่งพรรคร่วมด้วยกันเองเกิดความไม่พอใจอยู่บ้างเพราะพื้นที่ในจังหวัดตนเองได้รับจัดสรรพื้นที่น้อยกว่าที่ควรจะเป็น นี่ก็จะเป็นอีกโครงการที่ต้องจับตาเช่นกัน

วัดคุณธรรม-จริยธรรม 'มาร์ค'

ไม่เพียงแต่พรรคภูมิใจไทยเท่านั้นที่ถือระเบิดเวลาหลายลูกในขณะนี้แต่ฝากพรรคแกนนำอย่างประชาธิปัตย์เองก็ยังมีโครงการที่ท้าทายกระแสสังคมเช่นกัน

4. โครงการหวยออนไลน์ เพราะจนถึงขณะนี้ก็ยังทำคลอดไม่ได้เพราะโพลล์ทุกสำนักต่างบอกตรงกันว่า หากรัฐบาลผลักดันโครงการหวยออนไลน์ได้สำเร็จ จะทำให้มีเด็กและเยาวชนหันมาเล่นหวยเพิ่มขึ้นเกินกว่า 1 เท่าตัว หรือประมาณ 30-35% นี่คือปัญหาในเรื่องจริยธรรมและคุณธรรมที่ 'รัฐบาลอภิสิทธิ์' จะปัดความรับผิดชอบไม่ได้เช่นกัน

ขณะที่ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ติดตั้งเครื่องจำหน่ายหวยออนไลน์อย่างบริษัท ล็อกซเล่ย์ จีเทค เทคโนโลยี จำกัดก็เกี่ยวโยงกลับกลุ่มทุนในพรรคประชาธิปัตย์ หากไปตรวจดูรายชื่อคณะกรรมการบริษัทหลายคนที่นามสกุลที่คุ้นเคยทั้งนั้น

นอกจากนี้ล็อกซเล่ย์ฯถือว่ากิน 2 เด้ง 1.ค่าเสียหายในการผิดสัญญาที่ได้ฟ้องศาลไปแล้วอยู่ระหว่างการพิจารณา 2. ยังเป็นตัวแทนลงทุนติดตั้งเครื่องหวยออนไลน์ในครั้งล่าสุดซึ่งได้ลงทุนติดตั้งไปแล้วกว่า 6 พันเครื่อง

ส่วนคนพิการก็จ้องจะก่อหวอดเพราะหากออกหวยออนไลน์ต้องกระทบยอดขายจากการเดินขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นแน่นอน ล่าสุดได้เคาะโต๊ะออกมาแล้วว่าในเดือนพ.ย.2552 จะสามารถเปิดขายหวยออนไลน์ได้อย่างแน่นอนในระหว่างนี้ระยะเวลา 2 เดือนก็จะทำประชาพิจารณ์สอบถามจากกระแสสังคมไปด้วย นี่ก็จะเป็นอีกโครงการที่ท้าทายในเรื่องจริยธรรมของคนที่ชื่อ 'อภิสิทธิ์'เช่นกันว่ากระแสสังคมจะเอาด้วยหรือไม่

ชลประทานขุมทรัพย์ของ'หลงจู๊'

อย่างไรก็ดีไม่ใช่มีเพียงพรรคร่วมที่ชื่อภูมิใจไทยเท่านั้นที่มีเงินผ่านมือลงสู่โครงการต่างๆทั่วประเทศในระดับหลายหมื่นล้านบาท แต่เสื่อซุ่ม-มังกรการเมืองอย่าง 'บรรหาร ศิลปอาชา'อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทยมีหรือจะพลาดในโปรเจกต์ดังกล่าวเพราะกระทรวงเกรดเออย่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็มีเด็กในคาถาอย่าง 'ธีระ วงศ์สมุทร' นั่งกุมบังเหียนอยู่ซึ่งตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2552-2555 กรมชลประทานของกระทรวงเกษตรฯได้งบก้อนโตมาถึง2โครงการคือ

5.โครงการจัดหาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ระยะเวลาดำเนินการ 36 เดือน (ปี2553-55) รวมมูลค่าโครงการตลอด 3 ปี จำนวนเงิน 78,432,000,000 ล้านบาท

6.โครงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชลประทาน ระยะเวลาดำเนินงาน 36 เดือนมูลค่าของโครงการตลอด 3 ปีเป็นจำนวนเงิน87,595,222,000 ล้านบาทเฉพาะของกรมชลประทานใน 2 โครงการนี้มีมูลค่าของโครงการรวมกันมากถึง 1.66 แสนล้านบาท โดยทั้ง 2 โครงการมีความเกี่ยวพันกันเพราะโครงการแรกจะเน้นไปที่จัดหาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทานจะเกิดการก่อสร้างโครงการชลประทานขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ทั่วประเทศกว่า 1,908 แห่งทั่วประเทศโดยวิธีดำเนินงานคือให้กรมชลฯดำเนินการเอง หรือให้จ้างเหมางาน

ตรงนี้คือช่องโหว่ให้เกิดการทุจริตในโครงการนี้ได้ เพราะเป็นทราบดีว่าเจ้าของพรรคชาติไทยพัฒนาก็มีเครือข่ายในบริษัทก่อสร้างของพวกพ้องอยู่แล้ว และได้รับสัมปทานจากภาครัฐตลอดมา ซึ่งอาจทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนขึ้นได้ นอกจากนี้หลายฝ่ายยังเชื่อว่าบริษัทรับเหมาจะวิ่งเข้าหาเจ้าของโครงการตัวจริงเพื่อต้องการชนะการประมูลงานหรือได้งานในเขตพื้นที่ตนเอง

ขณะที่โครงการที่สองอย่างโครงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชลประทานเพื่อให้บริหารจัดการน้ำได้อย่างทั่วถึงไม่น้อยกว่า 24.49 ล้านไร่ เพราะ สเปกของโครงการจะเกี่ยวข้องกับการรื้อ-ซ่อมแซม-ปรับปรุง-บำรุงและจิปาถะในการเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำซึ่งอาจะมีช่องโหว่ในการรั่วไหลของงบประมาณ อีกทั้งอาจจะเกิดการคอร์รัปชั่นในโครงการต่างๆของเจ้าหน้าที่ได้ รวมทั้งบริษัทรับเหมาที่แอบอิงกับฝ่ายการเมืองตามภูมิภาคต่างๆก็น่าจะได้งานนี้ด้วย

นอกจากนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาซึ่งบริหารโดย 'ชุมพล ศิลปอาชา' หัวพรรคชาติไทยพัฒนาคนปัจจุบันได้รับงบพิเศษจำนวน 2,459 ล้านบาท

7.โครงการโปรโมทการท่องเที่ยว ก่อนหน้านี้สหภาพแรงงานฯททท.เองได้ออกมาขับไล่ 'วีรศักดิ์ โคว้สุรัตน์' ประธานบอร์ดออกจากตำแหน่งโดยให้เหตุผลว่ามีการผันงบลงจังหวัดสุพรรณมากเกินไป และการล้วงลูกจากฝ่ายการเมืองและหลายฝ่ายคาดกันว่าโครงการโปรโมทท่องเที่ยวก็คงไม่พ้นมือของนักล้วงอย่าง'หลงจู๊' และงบส่วนหนึ่งก็เทลงที่บรรหารบุรีเช่นเดิมอย่างมิต้องสงสัย..?

อย่างไรก็ดีทั้ง 7 โครงการที่กล่าวมานั้นล้วนเป็นโครงการที่ถูกจับตาถึงความไม่โปร่งใสในการบริหารจัดการงบประมาณและอาจทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ต้องสิ้นสุดก่อนครบวาระได้
RED LETTER
RED LETTER

จำนวนข้อความ : 266
Join date : 24/09/2009

ขึ้นไปข้างบน Go down

ขึ้นไปข้างบน


 
Permissions in this forum:
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ